นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวฤกษ์ไกลโพ้นที่สุดเท่าที่เคยพบ คาดสว่างกว่าดวงอาทิตย์หลายล้านเท่า

Looking deep into the Universe, the NASA/ESA Hubble Space Telescope catches a passing glimpse of the numerous arm-like structures that sweep around this barred spiral galaxy, known as NGC 2608. (Image: ESA/Hubble & NASA, A. Riess et al.)

นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวฤกษ์ที่อยู่ห่างไกลที่สุดเท่าที่เคยบันทึกไว้ ด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ซึ่งควบคุมโดยองค์การอวกาศนาซ่า

นักวิจัยคาดการณ์ว่าดาวฤกษ์นั้นมีมวล 50 ถึง 100 เท่าของดวงอาทิตย์ และสว่างกว่าดวงอาทิตย์หลายล้านเท่า

ทั้งนี้ ต้องใช้เวลาหลายพันล้านปีกว่าที่แสงจากดาวฤกษ์ที่อยู่ห่างไกลนั้นจะเดินทางมาถึงโลก เชื่อกันว่าแสงของดาวฤกษ์นี้เดินทางมาเป็นเวลานาน 12,900 ล้านปีแล้วก่อนที่จะมาถึงโลกของเรา ซึ่งหมายความว่าดาวฤกษ์ดวงนี้มีมาตั้งแต่เอกภพมีอายุเพียงเจ็ดเปอร์เซ็นต์ของอายุปัจจุบัน

ไบรอัน เวลช์ (Brian Welch) นักวิจัยในทีมนี้ได้ตั้งชื่อดวงดาวที่มีความร้อนแรงและสว่างไสวนี้ว่า Earendel ซึ่งเป็นชื่อภาษาอังกฤษโบราณที่หมายถึงดาวรุ่งอรุณ หรือแสงที่เจิดจ้า

เวลช์ เป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย Johns Hopkins ในรัฐแมริแลนด์ หัวหน้าการเขียนงานวิจัยที่อธิบายการค้นพบนี้ในวารสาร Nature กล่าวว่า เรามองเห็นดาวดวงนี้เหมือนกับเมื่อประมาณ 12,800 ล้านปีก่อน ซึ่งก็คือประมาณ 900 ล้านปีหลังจาก Big Bang หรือการเกิดระเบิดครั้งใหญ่ที่นักวิทยาศาสตร์หลายคนเชื่อว่าเป็นการกำเนิดของเอกภพหรือจักรวาล

เขาพูดถึงการค้นพบนี้ว่าเป็นความโชคดี แม้ว่าตอนนี้นักวิทยาศาสตร์บนโลกจะสามารถมองเห็นแสงของมันได้ แต่ดาว Earendel เองก็ไม่มีอยู่จริงอีกต่อไปแล้ว เนื่องจากดาวฤกษ์ขนาดมหึมามักจะมีอายุสั้น ทั้งนี้ดาวฤกษ์อาจมีอายุสองถึงสามร้อยล้านปีก่อนที่จะดับสูญไปในการระเบิดของซุปเปอร์โนวา หรือการระเบิดของดาวฤกษ์

เจ้าของสถิติก่อนหน้านี้คือ Icarus ดาวฤกษ์ขนาดใหญ่ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันที่ถูกค้นพบโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ซึ่งเชื่อกันว่าก่อตัวขึ้นเมื่อ 9,400 ล้านปีก่อน

ในทั้งสองกรณี นักดาราศาสตร์สามารถมองเห็นแสงจากดาวฤกษ์ได้เนื่องจากปรากฏการณ์ที่เรียกว่าเลนส์โน้มถ่วง ซึ่งเป็นผลมาจากแรงโน้มถ่วงจากกลุ่มดาราจักรที่อยู่ใกล้กันระหว่างโลกกับดาวฤกษ์ ทั้งนี้ แรงโน้มถ่วงทำหน้าที่เสมือนเลนส์ที่ขยายวัตถุที่อยู่ห่างไกลในพื้นหลัง

กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลได้พบเห็นแสงจากกาแลคซีที่มีอายุประมาณ 400 ปีหลังจาก Big Bang แต่ดาวแต่ละดวงที่อยู่ในระยะทางไกลขนาดนั้นไม่สามารถระบุได้

เจน ริกบี (Jane Rigby) นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ของนาซ่าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาวิจัยนี้ กล่าวว่า โดยปกติแล้ว ดาวเหล่านั้นจะรวมตัวกันเป็นก้อน แต่ในครั้งนี้ธรรมชาติได้ให้ดาวที่มีขนาดใหญ่มาก ๆ มาหนึ่งดวงเพื่อให้เราได้ศึกษากัน ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นของขวัญจากจักรวาลเลยทีเดียว

เวลช์กล่าวว่า Earendel อาจจะเป็นดาวหลักในระบบดาวที่ประกอบไปด้วยดาวฤกษ์สองดวง หรืออาจเป็นระบบดาวสามดวงหรือสี่ดวงก็เป็นได้ เขาตั้งข้อสังเกตว่ามีโอกาสเล็กน้อยที่ดาวฤกษ์นี้อาจจะเป็นหลุมดำ แต่จากการสังเกตการณ์ที่รวบรวมไว้ในปี 2016 และ 2019 ชี้ให้เห็นว่าไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น

นักวิจัยกล่าวว่ากล้องโทรทรรศน์เจมส์ เวบบ์ ของนาซ่าน่าจะช่วยให้นักดาราศาสตร์สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับดาวฤกษ์และดาราจักรต้นกำเนิดของมัน เนื่องจากกล้องโทรทรรศน์เจมส์ เวบบ์ นั้นทรงพลังกว่ากล้องฮับเบิลถึง 100 เท่า

นักดาราศาสตร์ ริกบี กล่าวว่าการศึกษาดวงดาวทำให้เราได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงต้นกำเนิดของมนุษย์ เพราะพวกเราล้วนเกิดขึ้นมาจากละอองบางส่วนของดวงดาวเหล่านั้น

  • ที่มา: เอพี, รอยเตอร์