นานาชาติเร่งหาวัตถุดิบผลิตแบตเตอรี่ป้อนกระแสความต้องการรถยนต์ไฟฟ้า

From left, electric cars from Nissan, Tesla, and Toyota are presented at a news conference in Los Angeles on Dec. 13, 2013. (AP Photo/Nick Ut, File)

ความต้องการแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับความต้องการนี้ บางประเทศกำลังพยายามเพิ่มขีดความสามารถของตนเองในการผลิตวัสดุที่จำเป็นสำหรับการผลิตแบตเตอรี่ดังกล่าว

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนจะยังคงเป็นเทคโนโลยีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุดสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต วัสดุหลักอย่างหนึ่งที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ชนิดนี้คือ ลิเธียม ซึ่งเป็นสารโลหะเบา ส่วนวัสดุที่จำเป็นอื่นๆ ได้แก่ โคบอลต์ แมงกานีส และนิกเกิล

อย่างไรก็ดี ความต้องการแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นทำให้ราคาสำหรับวัสดุดังกล่าวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และคาดว่าความต้องการนั้นจะดำเนินต่อไปทั่วโลกเนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ยังคงขยายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ต่อไป

ปัจจุบัน จีนเป็นผู้นำโลกในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า รายงานของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency) ระบุว่า ในปี 2021 รถยนต์ 3.4 ล้านคันที่จำหน่ายในประเทศจีนล้วนเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ยุโรปเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสอง โดยมียอดขายรถยนต์ไฟฟ้า 2.3 ล้านคัน รายงานระบุด้วยว่ามียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก 6.6 ล้านคันในปีนั้น

นอกจากนี้แล้ว ตอนนี้หลาย ๆ บริษัทในจีนยังเป็นผู้ผลิตวัสดุส่วนใหญ่ที่ใช้ทำแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งแร่โคบอลต์ก็เป็นหนึ่งในวัสดุดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ แหล่งแร่โคบอลต์ที่ใหญ่ที่สุดที่เป็นที่ทราบกันดีอยู่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และหลาย ๆ บริษัทของจีนก็เป็นผู้ควบคุมการทำเหมืองโคบอลต์ส่วนใหญ่ที่นั่นด้วย

วัสดุที่จำเป็นอีกอย่างหนึ่ง คือ ลิเธียม ที่พบในหลาย ๆ ส่วนของโลก แต่เป็นวัสดุที่มีราคาแพงและหาได้ยาก ออสเตรเลียเป็นผู้ผลิตลิเธียมรายใหญ่ที่สุดของโลก และซัพพลายเออร์รายใหญ่อื่น ๆ ได้แก่ จีน อาร์เจนตินา และชิลี นอกจากนี้จีนยังเป็นผู้ควบคุมห่วงโซ่อุปทานลิเธียมเป็นส่วนใหญ่อีกด้วย

รอยเตอร์รายงานว่า ความต้องการลิเธียมทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 317,500 เมตริกตันในปี 2020 แต่มีการคาดการณ์ว่าความต้องการนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่าหกเท่าภายในปี 2030 ราคาของลิเธียมคาร์บอเนตแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2021 ซึ่งสาเหตุหลักมาจากความต้องการที่แข็งแกร่งจากผู้ผลิตแบตเตอรี่ในจีนนั่นเอง

เว็บไซต์ Investing News มีรายงานว่า ผู้จัดหานิกเกิลรายใหญ่ที่สุดของโลกคือประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งผลิตโลหะนี้ได้ประมาณ 1 ล้านเมตริกตันในปี 2021 ส่วนประเทศอื่น ๆ ที่มีการทำเหมืองนิกเกิลขนาดใหญ่ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ รัสเซีย ออสเตรเลีย แคนาดา และบราซิล

รอยเตอร์รายงานด้วยว่า นิกเกิลส่วนใหญ่ที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า คาดว่าจะมาจากการทำเหมืองในอินโดนีเซีย ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัทเหมืองขนาดใหญ่ของจีนหลาย ๆ แห่งได้ประกาศการลงทุนครั้งใหญ่ในโครงการนิกเกิลของชาวอินโดนีเซีย

เจ้าหน้าที่ในสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ กล่าวว่าตนจะพยายามทำเหมืองและแปรรูปวัสดุในประเทศให้มากขึ้นเพื่อใช้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า การพึ่งพาอุปทานจากประเทศอื่น ๆ ให้น้อยลงอาจช่วยให้ประเทศต่างเหล่านั้นหลีกเลี่ยงปัญหาในเรื่องราคาและการหาทรัพยากร

ในเดือนกุมภาพันธ์ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ได้ประกาศโครงการความช่วยเหลือจากรัฐบาลกลาง เพื่อช่วยให้บริษัทต่าง ๆ สามารถทำเหมืองและแปรรูปลิเธียมและโลหะหายากอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นต่อการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดการพึ่งพาประเทศจีน

ปัจจุบัน มีเหมืองลิเธียมเพียงแห่งเดียวในสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของรัฐเนวาดา แต่กำลังมีการพัฒนาโครงการทำเหมืองลิเธียมเพิ่มขึ้นอีกในรัฐเนวาดา เมน นอร์ธ แคโรไลนา และแคลิฟอร์เนีย

ที่ประเทศอังกฤษ บริษัท Cornish Lithium วางแผนที่จะเริ่มดำเนินการทำเหมืองด้วยความร้อนใต้พิภพทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ส่วนที่ประเทศเยอรมนี Vulcan Energy Resources บริษัทร่วมทุนระหว่างเยอรมัน-ออสเตรเลียเรีย ได้ประกาศแผนเมื่อปีที่แล้วในการรวบรวมลิเธียมโดยใช้ความร้อนใต้พิภพจากพื้นที่ใน Black forest ของประเทศ นักวิทยาศาสตร์บางคนประเมินว่าพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเยอรมนีสามารถบรรจุลิเธียมได้มากพอที่จะผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าได้มากถึง 400 ล้านคัน

  • ที่มา: เอพี, รอยเตอร์, เอเอฟพี