สำรวจตลาดชุมชนไทยในอเมริกา เผยภาวะ ‘สงคราม-เงินเฟ้อ’ ทำข้าวของแพง

Keerati Jaruthammakorn takes an order from customers at The Best SomTum Thai Vendor, Wat Thai (Thai Temple)of Los Angeles food court, Los Angeles, CA.

ผู้คนในสหรัฐฯกำลังเผชิญกับสภาวะราคาสินค้าผู้บริโภคปรับขึ้นสูงสุดในรอบ 40 ปี อันเนื่องจากสภาวะเงินเฟ้อและสถานการณ์สู้รบในยูเครน ราคาอาหาร และน้ำมัน ปรับขึ้นมากกว่าเท่าตัวในช่วงไม่กี่เดือน เช่นเดียวกับชาวชุมชนไทยในรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่เริ่มได้รับผลกระทบจากข้าวของราคาแพง และเริ่มมีสินค้าขาดแคลนในบางชนิด

"โอ้ย ! (ราคา) ขึ้นเยอะมากเลยเนี่ย ตำ (ส้มตำ) ก็ไม่รู้จะใส่อะไรได้ จะใส่โน่นนิด นี่หน่อย ก็กลัวลูกค้าจะว่าอีก.. พวก มะเขือเทศ พริกขี้หนู กุ้งแห้ง ถั่วลิสง กระเทียม ขึ้นทุกอย่าง ผงชูรส มะละกอ ขึ้นเป็นเท่าเลย ส่วนน้ำปลาตอนนี้ไม่ต้องพูดถึง แพงมาก ไม่มีของด้วย จาก 2 เหรียญเป็น 5 เหรียญ"

นันทัชกรณ์ จารุธรรมากร หรือ 'แม่อ๊อด' เจ้าของร้าน The Best Som Tum ที่ตลาดอาหารวัดไทยเพื่อชุมชน และเจ้าของร้านอาหาร Thai Valley Restaurant ในเมือง Chatsworth รัฐแคลิฟอร์เนียบอกถึงราคาวัตถุดิบ ของส้มตำ และอาหารไทย ที่มีต้นทุนราคาเพิ่มขึ้นเกือบทุกชนิด

ต้นทุน ของทุกอย่างราคาขึ้นมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ค่ะ ทุกอย่างขึ้นเป็น 2 เท่าของราคาที่เราเคยซื้อ ..
กีรติ จารุธรรมากร แม่ค้าร้านเดอะ เบส ส้มตำ ตลาดวัดไทย ลอส แอนเจลิส

เช่นเดียวกับกีรติ จารุธรรมากร ลูกสาวที่ดูแลในเรื่องต้นทุนราคาอาหารของร้าน ยอมรับว่า ราคาวัตถุดิบที่ใช้ประกอบการทำส้มตำ เมนูหลักของร้าน หลายรายการเพิ่มสูงกว่าเท่าตัวในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

"ต้นทุนของทุกอย่างขึ้น 50 เปอร์เซ็นต์ หรือไม่ต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ทุกอย่างเพิ่มเป็น 2 เท่าจากราคาสมัยก่อนที่เราเคยซื้อ ส้มมะขามจากลังไม่ถึงร้อยตอนนี้ขึ้นมา 130 ดอลลาร์ ผงชูรสแต่ก่อนไม่เท่าไหร่ตอนนี้ขึ้นมา 125 เหรียญ สมมุติกระเทียมปกติถุงนึงถุงใหญ่ๆที่เราซื้อมาเนี่ยตกถุงละ 9 เหรียญที่เมืองไทยก็เทียบกับ 300 บาทกว่าบาทตอนนี้เขาก็โดดขึ้นมาเป็น 20-25 เหรียญฯคือมันกระโดดค่อนข้างสูง" กีรติ บอกกับ 'วีโอเอ ไทย'

Nantutchakorn (L) and Keerati (R) Jaruthammaorn, the owner of The Best SomTum Thai vendor, prepare a green papaya salad (Som Tum) for a customer at Wat Thai (Thai Temple) of Los Angeles food court, Los Angeles, CA.

กีรติ บอกว่า แม้ต้นทุนจะสูงขึ้น แต่ราคาส้มตำที่ขายให้ลูกค้านั้น ทางร้านยังคงราคาเดิม เพื่อรักษาฐานลูกค้าที่มีทั้งชาวไทยและชาวอเมริกันในลอส แอนเจลิส มาคอยซื้ออยู่เป็นประจำ

"ตอนนี้ ที่ร้านของเราไม่ได้ขึ้นราคาอาหารนะคะยังเป็นราคาเดิมซึ่งเมื่อ 5-7 ปีที่แล้วยังเป็นราคาเดิมค่ะ เพราะว่าเราต้องการจะเซฟลูกค้าให้ได้มากที่สุดเพื่อไม่ให้ลูกค้าได้ไปร้านอื่นแต่ร้านอื่นเขาเริ่มทยอยขึ้นราคากันแล้วเพราะว่าเขาไม่ไหวกับเรื่องอาหารค่ะ"

เช่นเดียวกับ นธินี แสนสระดี เจ้าของร้านอาหารตามสั่ง ร้านอิ่มอร่อย Dylish Thai Kitchen ที่ตลาดวัดไทยใกล้ๆกัน ก็ยังยืนยันที่จะคงราคาไว้ แม้จะต้องรับภาระต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น

A couple takes a selfie in front of the Wat Thai of Los Angeles Food Court at Wat Thai (Thai Temple) of Los Angeles, North Hollywood, CA. November 06, 2021.

"สมัยก่อน ไก่ เคยซื้ออยู่ที่ $70 แล้วก็ขึ้นมา $80 เมื่อวานนี้ซื้อก็ 104 เหรียญฯ ต่อ 1 ลัง เนื้อไก่ก็จะแบบ...โดยเฉพาะน้ำปลา ทุกอย่างที่มาจากเมืองไทยราคาก็จะขึ้นหมดเลย เพราะว่ามันติดอยู่ตรงท่าเรือ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ร้านเราก็ยังให้ปริมาณเดิม แล้วเราก็ถือว่าโอเคทำเพื่อลูกค้าเราไม่ได้ทำเพื่อกำไร" นธินี กล่าว

Your browser doesn’t support HTML5

สำรวจตลาดชุมชนไทยในอเมริกา เผยภาวะ ‘สงคราม-เงินเฟ้อ’ ทำข้าวของแพง

สุวรรณี เวชศิลป์ ชาวไทยในลอส แอนเจลิส บอกว่า เริ่มได้รับผลกระทบจากการปรับราคาเพิ่มของสินค้าต่างๆบ้างแล้ว

"คือส่วนใหญ่เขาจะค่อยๆขึ้นราคาบอกว่าจานนึงก็เพิ่มขึ้นทีละเหรียญ 2 เหรียญแต่ว่าในระดับขนาดของอาหารที่มาก็คือยังต้องเท่าเดิมคุณภาพต้องเท่าเดิมคนก็จะยอมจ่าย ก็แต่ว่าบางที่อย่างนี้เขาลดจำนวนอาหารลงกับคงราคาเท่าเดิมมัน ก็เหมือนกับเราไม่คุ้ม คนส่วนมากก็จะเลือกกินร้านที่ขึ้นราคาจะได้คุณภาพและปริมาณอาหารเท่าเดิม แต่ว่ายังไม่ตอนนี้ยังไม่เคยเจอที่ขึ้นราคาเป็นเท่าตัวแต่อาจจะกระโดดมาเป็นเพิ่มมาอย่างละ 2 เหรียญ 3 เหรียญนี้คือจะเจอหลายร้านมากค่ะ" สุวรรณี บอกถึงราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นในแคลิฟอร์เนีย

ด้านนัฎสิชา คามินสกี ลูกค้าที่ไปซื้ออาหารที่ตลาดวัดไทย กล่าวยอมรับถึงค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นในช่วงนี้

"ต้องยอมรับนะว่าขึ้น เพราะว่าทุกอย่างค่าครองชีพมันก็สูงขึ้นในช่วงนี้นะคะ ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจเงินเฟ้อที่มันแบบว่าถ้าเราเปรียบเทียบดูหลายๆยุคหลายสมัยคนที่เกิดในเจเนอเรชั่นเราตอนนี้ก็คือค่อนข้างยากลำบากนะคะไม่ว่าจะเป็นราคาอาหาร ราคาน้ำมัน หรือทุกอย่างมันก็ปรับขึ้นสูงขึ้นไม่ว่าจะเป็นราคาค่าเช่าบ้านหรือว่าราคาบ้านต่างๆ"

A man looks for food items at Bang-Luck Thai Grocery in Los Angeles, CA. March 12, 2022. The Bureau of Labor Statistics' Consumer Price Index rose 7.9% in February, compared to the year before, making the largest annual jump since 1982.

ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในตลาดแลกซ์-ซี (Lax-C) และตลาดบางรัก แหล่งช็อปปิ้งวัตถุดิบอาหารของพ่อค้าแม่ค้า และชาวชุมชนไทยในลอส แอนเจลิส พบว่านอกจากราคาของกินของใช้จะสูงขึ้นเกือบทุกรายการแล้ว ยังพบว่าสินค้าหลายชนิดที่ต้องนำเข้าจากเมืองไทยและประเทศในแถบเอเชียซึ่งเป็นวัตถุดิบจำเป็นการทำอาหารไทย ก็มักจะขาดตลาด ทำให้ทางเลือกในการหาซื้อสินค้าที่ต้องการค่อนข้างจำกัด

“ขาดตลาดค่ะ ขาดหลายอย่าง แล้วก็มีราคาแพงด้วย ที่ขาดก็คือน้ำปลา น้ำตาล โดยเฉพาะน้ำตาลก้นหอย ก็ไม่มี ปกติเราใช้น้ำตาลก้นหอย ล่าสุดไข่ก็ขึ้นไปที่ $34 เหรียญจากกล่องละ 15-18 เหรียญ" กีรติ เจ้าของร้านส้มตำ กล่าวระหว่างเดินหาซื้อวัตถุดิบทำอาหาร ที่ตลาดแลกซ์-ซี นครลอส แอนเจลิส

ขณะที่ เคซี เชิดชัย บอกกับ 'วีโอเอ' ขณะกำลังเดินหาซื้อของในแผนกอาหารสดของตลาดบางรัก ที่ลอส แอนเจลิส ถึงราคาที่เพิ่มขึ้น และสินค้าที่ขาดตลาด

"..ทำไปทำมา ทำให้สินค้าไม่มีออกมาขาย เสร็จแล้วพ่อต้าก็ขอเพิ่มราคาสินค้าขึ้น พอเพิ่มราคาสินค้าขึ้น ซื้อน้ำปลาปกติก่อนนี้ประมาณบาทสองบาท (เหรียญสองเหรียญสหรัฐฯ) แต่เดี๋ยวนี้ ขึ้น 4-5 บาท (เหรียญฯ) หรือ พริก ปกติเดี๋ยวนี้ ขึ้นเป็นเท่าไหร่ 8.99 ต่อปอนด์ ก่อนหน้านี้ 4-5 บาท (เหรียญฯ)"

รายงานจากสำนักข่าวรอยเตอร์ระบุ ว่าในเดือนที่ผ่านมาราคาสินค้าผู้บริโภคสหรัฐฯปรับขึ้นถึงระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี ปัจจัยสำคัญคือ นอกจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาแล้ว สถานการณ์สงครามรัสเซียบุกยูเครน ยังส่งผลให้ราคาต้นทุนน้ำมัน ปรับเพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ 30

นอกจากนี้กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศปรับขึ้นร้อยละ 0.8 ในเดือนที่ผ่านมาและในช่วงระหว่างเดือนมีนาคมของปีที่แล้วจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ของปีนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นแล้วถึงร้อยละ 7.9 ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม ปี ค.ศ 1982 หรือ 40 ปีก่อน (พ.ศ.2525)

มาตรการตอบโต้และคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ของสหรัฐฯและประเทศตะวันตกที่มีต่อรัสเซีย คือปัจจัยหนุนให้ค่าครองชีพทั่วโลกสูงขึ้น อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้