'ยูนิโคล่'-'ยาสูบญี่ปุ่น' กลับลำ ยุติธุรกิจในรัสเซีย ตามรอยบริษัทตะวันตก

UKRAINE-CRISIS/FAST RETAILING

แบรนด์เสื้อผ้าดัง และผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยาสูบชั้นนำของญี่ปุ่นกลับลำ หันมายุติการทำธุรกิจในรัสเซีย ตามรอยบริษัทชาติตะวันตกอีกมากมายที่เดินสายแบนรัสเซีย

การถอนตัวของบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นมีสัญญาณที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นขึ้น โดยหลายบริษัทบอกว่าการตัดสินใจดังกล่าวเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ และไม่ได้ระบุว่าเป็นการแสดงออกถึงจุดยืนทางการเมืองต่อการรุกรานยูเครนของรัสเซีย

ก่อนหน้านี้ ฟาสต์ รีเทลลิ่ง (Fast Retailing) ซึ่งเป็นเจ้าของ "ยูนิโคล่" ผู้ผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มกล่าวกับสื่อมวลชนญี่ปุ่นว่าร้านยูนิโคล่ทั้ง 50 สาขาในรัสเซียจะยังเปิดให้บริการตามปกติ เพราะ “เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิต” แต่ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา บริษัทกลับออกมาแถลงว่าไม่สามารถดำเนินธุรกิจในรัสเซียได้อีกต่อไปเพราะ “ประสบกับปัญหาหลายอย่าง”

ด้าน แจแปน โทแบคโค (Japan Tobacco) บริษัทผลิตภัณฑ์ยาสูบชั้นนำของญี่ปุ่น ซึ่งควบคุมหนึ่งในสามของตลาดยาสูบในรัสเซีย กล่าวว่าบริษัทลูกของตนจะยุติการลงทุน การทำการตลาด และการออกผลิตภัณฑ์ยาสูบตัวใหม่

บริษัทเครื่องสำอางค์ ชิเซโด (Shiseido) ได้ยุติการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางค์ของตนจากยุโรปไปยังรัสเซีย ยุติการโฆษณาและกิจกรรมส่งเสริมผลิตภัณฑ์ ในขณะที่มิตซูบิชิ อิเล็กทริก (Mitsubishi Electric) กล่าวว่าจะหยุดส่งออกไปยังรัสเซีย เพราะการดำเนินการดังกล่าว “เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก”

Customers queue to enter a Uniqlo store in Moscow, Russia, March 10, 2022.

บริษัทจัดส่งเครื่องจักรและอุปกรณ์การก่อสร้าง ฮิตาชิ (Hitashi) กล่าวว่าจะหยุดการส่งออกและยุติการดำเนินกิจการส่วนใหญ่ในรัสเซีย ยกเว้นกิจการด้านโรงไฟฟ้าที่มีความจำเป็น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ บริษัทจัดส่งเครื่องจักรอุตสาหกรรมสัญชาติอเมริกัน อย่าง คาเตอร์พิลลาร์ (Carterpillar) 3เอ็ม (3M) เดียร์ (Deere) และ ฮันนีเวลล์ (Honeywell) ได้ยุติการดำเนินการในรัสเซียแล้วเช่นกัน โดยโฆษกของฮิตาชิกล่าวว่าบริษัทคำนึงถึงปัจจัยด้านสถานการณ์ของห่วงโซ่อุปาทานในการตัดสินใจครั้งนี้

แต่ในขณะที่บางบริษัท เช่น ฟอร์ด (Ford) และแอปเปิล (Apple) ได้ออกมาประณามการบุกรุกยูเครนของรัสเซีย บริษัทอื่น ๆ เช่น โตโยตา (Toyoya) เลือกที่จะแสดงความเป็นกลาง และบอกว่าที่จำเป็นต้องหยุดการผลิตในรัสเซียนั้นเป็นเพราะความลำบากในกระบวนการขนส่ง หรือระบบโลจิสติกส์

การโจมตียูเครนโดยรัสเซียได้ทำให้บริษัทต่าง ๆ พากันออกมาประณามการกระทำของรัสเซียมากขึ้น แต่ผู้นำรัสเซีย ซึ่งเรียกสงครามครั้งนี้ว่าเป็น "ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร" กลับบอกว่าเขาไม่มีทางเลือกอื่น และยังบอกอีกว่ารัสเซียจะกลายเป็นประเทศที่เข้มแข็งขึ้นและเป็นอิสระมากขึ้นจากมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจของประเทศตะวันตก

นอกจากบริษัทของญี่ปุ่นแล้ว ริโอ ตินโต (Rio Tinto) ผู้ประกอบการเหมืองแร่ยักษ์ใหญ่ ยังเป็นบริษัทเหมืองแร่แห่งแรกของโลกที่ประกาศตัดสัมพันธ์กับบริษัทสัญชาติรัสเซีย รวมทั้งบริษัทที่จัดหาน้ำมันและวัตถุดิบอื่น ๆ ให้กับกิจการของริโอ ตินโตในประเทศมองโกเลีย

ริโอ ตินโต เป็นเจ้าของหุ้น 80% ในบริษัท รูซัล (Rusal) บริษัทผลิตอะลูมิเนียม ซึ่งเป็นกิจการร่วมลงทุนกับรัสเซีย โดยริโอ ตินโต กล่าวว่ากำลังอยู่ในกระบวนการยุติความสัมพันธ์ทางการค้าและพาณิชย์ทั้งหมดที่มีกับธุรกิจของรัสเซีย

ส่วนกลุ่มพลังงานของอิตาลี เอนี (Eni) ได้ยุติการซื้อน้ำมันจากรัสเซียเช่นกัน

FILE PHOTO: A sign adorns the building where mining company Rio Tinto has their office in Perth, Western Australia

ธนาคารเพื่อการลงทุน โกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs) ถือเป็นธนาคารแห่งแรกของสหรัฐฯ ที่ยุติการให้บริการในรัสเซีย ส่วนผู้ค้าเมล็ดพืชพันธุ์ระดับโลกอย่าง บังกี้ (Bunge) ได้กล่าวเช่นกันว่าบริษัทได้ยุติธุรกิจการส่งออกไปยังรัสเซีย ถึงแม้ว่ายังคงดำเนินกิจการบางอย่างในรัสเซีย

ก่อนหน้านี้ บริษัทอาหารฟาสต์ฟู้ดและของอุปโภคบริโภคที่สำคัญของตะวันตก อย่างแมคโดนัลด์ โคคา-โคลา ได้ยุติการดำเนินธุรกิจในรัสเซียเป็นการชั่วคราวเช่นกัน หลังจากที่ได้รับแรงกดดันอย่างมากจากลูกค้าในประเทศโลกตะวันตก

บริษัทอัลฟาเบ็ต อิงค์ (Alphabet Inc) บริษัทแม่ของยูทูป (Youtube) และร้านค้าออนไลน์กูเกิลเพลย์ (Google Play) ได้ยุติการให้บริการที่เกี่ยวกับการชำระเงินทั้งหมดในรัสเซีย ตั้งแต่มาตรการลงโทษเศรษฐกิจที่นำมาใช้ส่งผลให้การดำเนินการทางธนาคารยุ่งยากมากขึ้น

ผู้ประกอบการโรงแรมอย่าง แมริออตต์ อินเตอร์แนชั่นแนล (Marriott International) ปิดสำนักงานในกรุงมอสโก หลังจากที่เครือฮิลตัน (Hilton) และไฮแอท (Hyatt) ยุติการก่อสร้างโรงแรมในรัสเซียไปก่อนหน้านี้

Roman Abramovich

นอกจากนี้ มาตรการลงโทษยังลุกลามไปถึงคนใกล้ชิดและพันธมิตรของปูตินด้วย เช่น โรมัน อบราโมวิช มหาเศรษฐีรัสเซียและเจ้าของสโมสรฟุตบอลอังกฤษเชลซี อิกอร์ เซชิน ซีอีโอของ รอสเนฟท์ (Rosneft) บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของรัสเซีย ตลอดจนอภิมหาเศรษฐีผู้ทรงอำนาจทางเศรษฐกิจ หรือ โอลิกาค (Oligarch) คนอื่น ๆ ซึ่งถูกอังกฤษนำมาตรการลงโทษมาบังคับใช้

การใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจของประเทศตะวันตกได้ทำให้รัสเซียถูกโดดเดี่ยว ในขณะที่บริษัทขนส่งต่าง ๆ ได้ยุติเส้นทางขนส่งไปยังรัสเซีย ส่วนผู้นำประเทศสหภาพยุโรปก็มีแผนที่จะค่อย ๆ ลดการซื้อพลังงานจากรัสเซียเพื่อลดการพึ่งพาด้านพลังงานของประเทศตน

มาตรการลงโทษยังทำให้ค่าเงินรูเบิลของรัสเซียร่วงลงอย่างหนัก ส่งผลต่อตลาดหุ้น และทำให้ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ พุ่งขึ้นสูง ซ้ำเติมภาวะเงินเฟ้อของหลายประเทศทั่วโลกที่น่าเป็นห่วงอยู่ก่อนแล้ว

สงครามในยูเครน ซึ่งดำเนินมาเป็นสัปดาห์ที่สามแล้วในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วหลายพันคน และทำให้ชาวยูเครนกว่าสองล้านคนต้องกลายเป็นผู้อพยพหนีภัยสงคราม