สถาบันวิจัย National Institute of Polar Research ของญี่ปุ่น เริ่มโครงการวิจัยโดยการใช้แมวน้ำช่วยเก็บรวบรวมข้อมูลมาตั้งแต่ปี 2017 โดยรายงานการศึกษานี้ถูกตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Limnology and Oceanography
นักวิจัยชาวญี่ปุ่นติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไว้บนตัวแมวน้ำในคาบสมุทรแอนตาร์กติกาเพื่อรวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในบริเวณนั้น โดยนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า แมวน้ำสามารถเดินทางไปยังพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนฤดูหนาวที่แสนลำบากในทวีปแอนตาร์กติกา
อุปกรณ์ดังกล่าวถูกติดตั้งอยู่บนแมวน้ำเวดเดลล์จำนวน 8 ตัว โดยมีเสาอากาศเพื่อส่งสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์ตรวจสอบที่มีน้ำหนัก 580 กรัมติดอยู่ที่หัวของพวกมันด้วย อุปกรณ์นี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อตรวจวัดข้อมูลต่าง ๆ เช่น อุณหภูมิของน้ำ และระดับเกลือทะเล เป็นต้น
สถาบัน National Institute of Polar Research กล่าวในแถลงการณ์ว่า คณะนักวิจัยประสบปัญหาในการเข้าถึงพื้นที่วิจัยที่สำคัญในแอนตาร์กติกา ซึ่งรวมถึงพื้นที่ตามแนวไหล่ทวีปที่มีน้ำแข็งเกาะติดกับชายฝั่งด้วย
โนบุโอะ โคคุบุน (Nobuo Kokubun) หัวหน้าโครงการบอกกับรอยเตอร์ว่า การวิจัยนี้ยังช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถติดตามพฤติกรรมของแมวน้ำและเรียนรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของแมวน้ำกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ในช่วงฤดูร้อน นักวิจัยสามารถไปที่แอนตาร์กติกาโดยใช้เรือตัดน้ำแข็งในการทำกิจกรรมการวิจัยต่าง ๆ เพื่อรวบรวมข้อมูลในบริเวณนั้น แต่ในช่วงฤดูหนาว นักวิจัยไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ในหลาย ๆ พื้นที่ และว่าแมวน้ำเป็นสัตว์ที่แอคทีฟตลอดทั้งปี ดังนั้นนักวิจัยควรให้พวกมันช่วยรวบรวมข้อมูล
ทั้งนี้ ข้อมูลที่รวบรวมได้จากแมวน้ำแสดงให้เห็นว่าแมวน้ำตัวหนึ่งเดินทางไกลถึง 633 กิโลเมตรจากสถานี Showa ของญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่ในแอนตาร์กติกา ส่วนอีกตัวหนึ่งก็ดำน้ำที่ความลึกถึง 700 เมตร
โคคุบุนกล่าวอีกว่า นักวิทยาศาสตร์ได้เรียนรู้จากข้อมูลที่ว่าน้ำทะเลอุ่นจากด้านบนของน้ำทะเลลึกเดินทางไปถึงแอนตาร์กติกาจากเดือนมีนาคมจนถึงฤดูหนาวปี 2017 ทั้งนี้ น้ำที่ไหลลงใต้ผืนน้ำแข็ง นำมาซึ่งสัตว์ทะเลมากมาย เช่น ตัวเคย ซึ่งเป็นอาหารที่สำคัญสำหรับแมวน้ำ
โคคุบุนและทีมของเขาวางแผนที่จะค้นหาวิธีใหม่ ๆ เพื่อศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่มีต่อพื้นที่ชายฝั่งแอนตาร์กติกต่อไป และขั้นต่อไปเขาคาดว่าจะทำให้อุปกรณ์นี้มีขนาดเล็กพอที่จะใช้ได้กับสัตว์ชนิดอื่น ๆ ที่ขั้วโลกใต้ อย่างเช่น นกเพนกวิน เป็นต้น
ข้อดีของเพนกวินก็คือ พวกมันมักจะกลับมาที่เดิมและนักวิจัยก็จะสามารถรวบรวมข้อมูลจากพวกมันได้ในทันที นอกจากนี้ นักวิจัยยังสามารถใช้อุปกรณ์ดังกล่าวกับนกเพนกวินจำนวนมาก เพื่อให้พวกมันรวบรวมข้อมูลครอบคลุมพื้นที่ในวงกว้างได้อีกด้วย
- ที่มา: รอยเตอร์, สถาบัน National Institute of Polar Research