กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ตั้งคณะทำงานพิเศษเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่จะห้ามเคลื่อนย้ายทรัพย์สินของเหล่ามหาเศรษฐีรัสเซียที่สนิทสนมกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เพื่อเป็นการตอบโต้รัสเซียที่รุกรานยูเครน
กลุ่มผู้ทรงอำนาจทางเศรษฐกิจเหล่านี้ซึ่งเรียกว่า “โอลิกาค” (Oligarch) อาจจะโดนคณะทำงานพิเศษของสหรัฐฯเดินหน้าห้ามเคลื่อนย้ายทรัพย์สินที่มีอยู่ในอเมริกา ซึ่งสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า“โอลิกาค” ที่ถูกลงโทษอาจจะโดนอายัดทรัพย์อย่างถาวรได้ภายใต้กฎหมายเพ่ง
เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายกล่าวว่าอาจมีการออกหมายขอยึดทรัพย์สิน หากทรัพย์สินเหล่านั้นถูกใช้ในการก่ออาชญากรรมหรือสะท้อนว่าได้มาจากเงินผ่านกิจกรรมผิดกฎหมาย โดย "โอลิกาค" เหล่านี้ถือครองสินทรัพย์หลายรูปแบบในอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นเรือสำราญ ที่อยู่อาศัย หรือ บัญชีการลงทุน
รอยเตอร์รายงานว่าเจ้าหน้าที่อาจขอให้ศาลออกหมายยึดทรัพย์ได้ หากมีเหตุผลอันสมควร และหากเป็นเช่นนั้น สเตฟาน เเคสเซลลา อดีตเจ้าหน้าที่อัยการของรัฐบาลกลางอเมริกันกล่าวว่า “โอลิกาค” ที่ถูกมาตรการลงโทษจะไม่สามารถโอนหรือขายสินทรัพย์ของพวกเขาในอเมริกาได้
อย่างไรก็ตาม กระบวนการยังคงไม่สิ้นสุด เพราะหากว่าทรัพย์สินมีมูลค่าเกิน 500,000 ดอลลาร์ ฝ่ายอัยการจะต้องยื่นคำร้องขอยึดทรัพย์ในการดำเนินการทางเพ่งเพื่อขออายัดเป็นการถาวร กระบวนการดังกล่าวจะเกิดขึ้นในเขตศาลที่เป็นที่ตั้งหรือที่เก็บทรัพย์สินเหล่านั้น
สเตฟาน เเคสเซลลา กล่าวด้วยว่ากระบวนการทางเพ่งอาจเริ่มขึ้นได้เช่นกัน ถ้าสินทรัพย์ได้มาถูกใช้เพื่อนำไปให้สินบนต่อวลาดิเมียร์ ปูติน และอัยการต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าของที่ต้องการยึดเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด
ซาราห์ คริสซอฟ ทนายแห่งบริษัท Day Pitney LLP ผู้เคยทำงานเป็นอัยการฝ่ายรัฐกล่าวว่า มีหลายครั้งที่ทรัพย์สินมีผู้ถือครองเป็นบริษัที่ไม่เปิดเผยชื่อ และเจ้าของตัวจริงไม่ต้องการปรากฏตัวต่อหน้าศาล
เธอบอกว่า บางครั้งรัฐสามารถยึดสินทรัพย์ได้โดยอัตโนมัติเพราะเจ้าของไม่ต้องการเปิดเผยถึงการถือครองสินทรัพย์นั้นๆ
ทั้งนี้กระบวนการยึดทรัพย์ “โอลิกาค” รัสเซียอาจจะใช้เวลาหลายปี
ตัวอย่างเช่น เมื่อ 6 ปีก่อนกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ยื่นคำร้องขอยึดทรัพย์มูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์ที่โยงใยกับกรณีการโกงเงินจากกองทุนแห่งรัฐมาเลเซีย ที่ชื่อกองทุน 1MDB ในกรณีดังกล่าวทางการอเมริกันสามารถตกลงกันได้กับนักการเงินมาเลเซียซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นคนวางเเผนดังกล่าว โดยเขายอมถูกปรับ 700 ล้านดอลลาร์ และกระบวนการดังกล่าวใช้เวลานานถึง 3 ปีกว่าจะเกิดข้อตกลงถูกปรับ
SEE ALSO: กองทุน 1MDB มาเลเซีย ยื่นฟ้องคดีแพ่งกว่า 20 คดีเรียกค่าชดเชย 23,000 ล้านดอลลาร์สำนักข่ายรอยเตอร์รายงานว่า แม้เจ้าของทรัพย์สินไม่ได้อยู่ในสหรัฐฯ การยึดทรัพย์ยังคงสามารถเกิดขึ้นได้ ฝ่ายอัยการอเมริกันอาจจะสามารถตั้งข้อหาอาญาต่อ “โอลิกาค” รัสเซีย และกำหนดว่าส่วนหนึ่งของการลงโทษจะมีการยึดทรัพย์ด้วย
เมื่อสิบกว่าปีก่อน กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯเคยมีคณะทำงานพิเศษที่มีหน้าที่คล้ายกับครั้งนี้ กล่าวคือเมื่อปี ค.ศ. 2010 มีการทำงานลักษณะเดียวกันที่พุ่งเป้าไปที่การลงโทษต่อรองประธานาธิบดีประเทศ Equitorial Guinea เพื่อปราบคอรัปชั่น และในปี ค.ศ. 2013 ฝ่ายอเมริกันสามารถทำความตกลงรับทรัพย์สินของบุคคลดังกล่าวในสหรัฐฯมูลค่ากว่า 30 ล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงคฤหาสน์ในมาลิบู รัฐเเคลิฟอร์เนียและของสะสมเกี่ยวกับอดีตราชาเพลงป๊อปไมเคิล เเจ็คสัน