วัคซีนป้องกันโควิด-19 สามารถช่วยชีวิตผู้คน แต่ไม่สามารถยับยั้งการกลายพันธุ์ของเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้ เรื่องดังกล่าวทำให้นักวิทยาศาสตร์ตั้งคำถามมากมาย เช่น จำเป็นต้องมีการฉีดวัคซีนเพิ่มอีกหรือไม่? ควรเปลี่ยนแปลงวัคซีนที่มีอยู่แล้วหรือไม่? หรือ ควรพัฒนาวัคซีนชนิดใหม่อีกหรือไม่? เป็นต้น
Dr. Daniel Kuritzkes หัวหน้าแผนกโรคติดเชื้อที่โรงพยาบาล Brigham & Women's บอกกับสำนักข่าวเอพีว่า ทุกคนต้องร่วมกันคิดทบทวนว่าเป้าหมายของการฉีดวัคซีนคืออะไร? และว่า ถ้าหากเป้าหมายคือการป้องกันอาการเจ็บป่วยที่รุนแรง ก็อาจไม่จำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงวัคซีนทุกครั้งที่มีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น
เมื่อไวรัสเปลี่ยนแปลงหรือกลายพันธุ์ จะไม่มีทางทราบได้เลยว่าสายพันธุ์ต่อไปจะเลวร้ายแค่ไหน ตัวอย่างเช่น สายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนที่มีการกลายพันธุ์ก็กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้
Jennifer Nuzzo จากศูนย์ความปลอดภัยด้านสุขภาพของ Johns Hopkins แนะนำว่า วิธีแก้ปัญหาแบบเร่งด่วนก็คือการพยายามให้ผู้คนเข้ารับการฉีดวัคซีนให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดโอกาสในการที่ไวรัสจะกลายพันธุ์ได้
ทั้งนี้ การสกัดกั้นการติดเชื้อเป็นหน้าที่ของแอนติบอดี้หรือภูมิต้านทานในร่างกาย ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากการฉีดวัคซีนหรือเมื่อติดเชื้อโควิด-19 ภูมิต้านทานก็พร้อมที่จะต่อสู้กลับในครั้งต่อไปที่มีการสัมผัสบุคคลที่ป่วยเป็นโรคนี้
อย่างไรก็ตาม การกลายพันธุ์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ของโปรตีนส่วนหนามบนผิวของโคโรนาไวรัส นั่นคือเหตุผลที่สายพันธุ์โอมิครอนสามารถทำลายแนวรับแรกนั้นได้ นอกจากนี้ ระบบภูมิคุ้มกันไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นแอนติบอดีที่ต่อสู้กับการติดเชื้อจึงลดลงเมื่อเวลาผ่านไป แต่ระบบภูมิคุ้มกันส่วนหนึ่งที่เรียกว่า "ทีเซลล์" สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อจากอาการเจ็บป่วยที่รุนแรงได้ ถึงกระนั้น ประสิทธิภาพการป้องกันของทีเซลล์มีอายุการใช้งานยาวนานกว่าเพราะทีเซลล์สามารถรับรู้ถึงส่วนอื่น ๆ ของไวรัสที่ไม่เกิดการกลายพันธุ์ได้ง่าย
ในบางประเทศ ประชากรได้รับวัคซีนเข็มที่สามแล้ว และในบางประเทศก็มีการฉีดวัคซีนเข็มที่สี่ เพื่อต่อสู้กับภูมิคุ้มกันที่ลดลงและไวรัสสายพันธุ์ใหม่ วัคซีนเหล่านั้นบางครั้งก็เรียกกันว่าวัคซีนเข็มกระตุ้นซึ่งช่วยป้องกันอาการเจ็บป่วยที่รุนแรง แต่การวิจัยพบว่าการป้องกันโรคตามอาการจากสายพันธุ์โอมิครอนนั้นทำได้ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เมื่อเทียบสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ซึ่งสามารถป้องกันได้ถึง 94%
Dr. Paul Offit ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนที่โรงพยาบาล Children’s Hospital of Philadelphia กล่าวว่า การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นอย่างไม่สิ้นสุดเพียงเพื่อรักษาระดับแอนติบอดีให้สูงนั้น ไม่ใช่กลยุทธ์ด้านสาธารณสุขที่ใช้ได้ผล
บริษัท Pfizer-BioNTec และ Moderna ต่างมีวัคซีนป้องกันโคโรนาไวรัสที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ทั้งสองบริษัทกล่าวว่า ขณะนี้กำลังมีการทดสอบวัคซีนเข็มกระตุ้นที่ใช้ในการป้องกันสายพันธุ์โอมิครอนเท่านั้นในกลุ่มผู้ใหญ่ชาวอเมริกันบางคน
อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะประกาศใช้วัคซีนที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถช่วยชีวิตผู้คนจากสายพันธุ์ใหม่ได้ เพื่อช่วยลดจำนวนการติดเชื้อที่ลุกลามอยู่หรือไม่? ขณะที่บริษัทผู้ผลิตยาสามารถผสมรวมวัคซีนสองชนิดเข้าด้วยกัน แต่จะต้องพิสูจน์ว่าส่วนผสมนั้นสามารถใช้ต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้
ในสหรัฐฯ สถาบันสุขภาพแห่งชาติกำลังใช้งบประมาณราว 43 ล้านดอลลาร์เพื่อพัฒนาวัคซีนที่เรียกว่า “แพน-โคโรนาไวรัส” เพื่อที่จะมีวัคซีนชนิดเดียวที่สามารถป้องกันป้องกันโคโรนาไวรัสได้มากกว่าหนึ่งสายพันธุ์
แต่ความยากลำบากในการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์การฉีดวัคซีนก็คือ มีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของคนในบางประเทศที่ได้รับวัคซีนโควิดอย่างน้อยหนึ่งเข็ม นอกจากนี้ วัคซีนที่ผ่านการรับรองแล้วบางชนิดไม่สามารถป้องกันสายพันธุ์โอมิครอนได้มากเท่ากับวัคซีนจาก Pfizer และ Moderna
ตัวอย่างเช่น นักวิจัยของมหาวิทยาลัย Yale University พบว่า ไม่มีภูมิต้านทานไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนในเลือดของผู้ที่ได้รับวัคซีนจาก Sinovac ของประเทศจีนจำนวนสองเข็ม ซึ่งก็หมายความว่าการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ในการฉีดวัคซีนนั้นต้องพิจารณาจัดทำภายใต้สถานการณ์ที่แตกต่างกันไปในระดับท้องถิ่นนั้น ๆ
- ที่มา: เอพี