Your browser doesn’t support HTML5
เป็นที่คาดกันว่าในช่วงไม่กี่สัปดาห์ต่อจากนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ จะเปิดเผยรายละเอียดสำหรับการเจรจาเรื่องกรอบความตกลงทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกหรือ Indo-Pacific Economic Framework เพื่อเติมเต็มช่องว่างเรื่องข้อตกลงการค้ากับกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก หลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลง TPP เมื่อห้าปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ด้านการค้าระหว่างประเทศหลายคนเชื่อว่าข้อเสนอใหม่ดังกล่าวอาจไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควรหากวอชิงตันยังไม่พร้อมให้ประเทศคู่ค้าต่างๆ เข้าถึงตลาดในประเทศของสหรัฐฯ เอง
ในช่วงห้าปีที่ผ่านมานี้สหรัฐฯ ไม่มีข้อตกลงด้านการค้าใดๆ ที่จะเสนอให้กับกลุ่มประเทศในย่านเอเชียแปซิฟิกหลังจากที่รัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์ตัดสินใจถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงการค้าเสรี TPP ซึ่งประธานาธิบดีโอบามาเป็นผู้ริเริ่มไว้ แต่เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วทำเนียบขาวได้เปิดเผยคำแถลงของประธานาธิบดีไบเดนที่ว่า วัตถุประสงค์ของกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกดังกล่าวคือการกำหนดเป้าหมายร่วมกันในเรื่องการอำนวยความสะดวกด้านการค้า การสร้างมาตรฐานใหม่สำหรับระบบเศรษฐกิจดิจิตัลและเทคโนโลยี ความยืดหยุ่นและความคล่องตัวของระบบซัพพลายเชน การลดการผลิตก๊าซคาร์บอนและการใช้พลังงานสะอาด ระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ มาตรฐานด้านแรงงาน รวมทั้งเรื่องอื่นๆ ซึ่งแต่ละประเทศมีความสนใจร่วมกัน
ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ หลายคน เช่น Sarah Bianchi รองผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ฝ่ายภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้กล่าวว่ายังมีเรื่องที่ต้องตระเตรียมก่อนที่จะสามารถจัดทำแผนงานอย่างเป็นทางการได้ อย่างไรก็ตามขณะนี้วอชิงตันก็มีเนื้อหาอยู่พอสมควรสำหรับข้อตกลงการค้าเสรีฉบับใหม่ซึ่งจะนำเสนอต่อกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิกนี้แล้ว
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นาย Jake Colvin ประธานสภาการค้าต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้บอกกับวีโอเอว่าเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้เริ่มส่งสัญญาณและสื่อสารเกี่ยวกับความตั้งใจที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องสัมพันธ์ด้านการค้ากับภูมิภาคอินโดแปซิฟิก และว่าทางสภาการค้าต่างประเทศได้กล่าวมานานแล้วว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีไบเดนมีโอกาสที่จะจัดทำกฎเกณฑ์ที่ทันสมัยเรื่องเศรษฐกิจดิจิตัลและอีคอมเมิร์ซกับภูมิภาคอินโดแปซิฟิกนี้
อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศอีกคนหนึ่งคือนาย William Reinsch จาก Center for Strategic and International Studies ได้ชี้ว่า ดูเหมือนว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ชุดปัจจุบันไม่ได้พยายามออกแบบข้อตกลงการค้าซึ่งครอบคลุมทุกเรื่องตามที่ประธานาธิบดีไบเดนเอ่ยถึง เพราะคาดว่าการเจรจาในรายละเอียดจะมุ่งเฉพาะในแต่ละส่วนเป็นการเฉพาะ
ตัวอย่างเช่นประเทศผู้ร่วมเจรจาสามารถตัดสินใจว่า จะทำความตกลงเฉพาะเรื่องมาตรฐานและกฎเกณฑ์สำหรับระบบเศรษฐกิจดิจิตัลกับระบบซัพพลายเชน แต่จะไม่เข้าร่วมเกี่ยวข้องในเรื่องมาตรฐานด้านแรงงานและการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ เป็นต้น
นักวิเคราะห์ด้านการค้าคนอื่นเช่นนาย Gary Hufbauer จากสถาบันเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศปีเตอร์สันได้ตั้งคำถามว่า วอชิงตันจะสามารถบรรลุเป้าหมายตามที่ต้องการได้หรือไม่หลังจากที่ได้ส่งสัญญาณออกไปแล้วว่าจะไม่สามารถให้โอกาสเพื่อการเข้าถึงตลาดในสหรัฐฯ ได้มากขึ้นแก่ประเทศคู่ค้าที่ต้องการ เพราะหากทำเช่นนั้นก็คงจะต้องพบกับการคัดค้านทั้งจากฐานคะแนนส่วนใหญ่ของพรรคเดโมแครตรวมทั้งจากสมาชิกของพรรครีพับริกันอีกหลายคนด้วย
ซึ่งในประเด็นนี้คุณ William Reinsch จาก Center for Strategic and International Studies ได้บอกกับวีโอเอว่า หากไม่มีการแก้ไขกฎเกณฑ์เรื่องการเข้าถึงตลาดในสหรัฐแล้วเรื่องดังกล่าวก็คงไม่ช่วยสร้างแรงจูงใจให้กับประเทศคู่เจรจาโดยเฉพาะประเทศเล็กๆ ซึ่งคงจะได้รับแรงคัดค้านจากจีนและคงไม่ตัดสินใจเข้าร่วมหากไม่เห็นว่าผลประโยชน์ที่อาจได้จะมีน้ำหนักมากกว่าแรงต้านจากจีน โดยคุณ William Reinsch สรุปว่าหากนำเรื่องโอกาสการเข้าถึงตลาดของสหรัฐฯ ออกจากโต๊ะเจรจาแล้วก็คงแทบไม่เหลืออะไรที่จะเจรจากัน
และเกี่ยวกับเรื่องนี้ คุณ Gary Hufbauer จากสถาบันเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศปีเตอร์สันก็เห็นด้วยในแง่ที่ว่าวอชิงตันคงไม่สามารถได้คำมั่นสัญญาในเรื่องต่างๆ ตามที่ตั้งเป้าไว้มากนักจากประเทศคู่เจรจาเพราะประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอาจจะทำเพียงแค่ให้สัญญาอย่างคลุมเครือว่าจะใช้ความพยายามอย่างดีที่สุดตามคำขอของสหรัฐฯ เนื่องจากประเทศคู่ค้าเหล่านี้คงไม่ยอมตกลงในข้อผูกพันใดๆ ตามที่สหรัฐฯ ตั้งเป้าไว้สำหรับกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโดแปซิฟิก นอกเสียจากว่าสหรัฐฯ จะยอมผ่อนปรนเพื่อให้ประเทศเหล่านี้สามารถเข้าถึงตลาดของตนได้มากขึ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลสหรัฐฯ ยังไม่พร้อมที่จะทำในขณะนี้
ที่มา: VOA