Your browser doesn’t support HTML5
นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกเดินทางเยือนประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอีกครั้งในวันนี้คือวันจันทร์ ตามเวลาในสหรัฐฯ โดยแผนการเยือนออสเตรเลีย ฟิจิ รวมทั้งการหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่ฮาวายครั้งนี้อาจมองได้ว่าเป็นเครื่องย้ำเตือนความตั้งใจของสหรัฐฯ ซึ่งยังให้ความสนใจและความสำคัญทางยุทธศาสตร์ระยะยาวกับภูมิภาคดังกล่าว
โดยจุดเน้นสำคัญสำหรับการเยือนประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกครั้งแรกในปี 2565 ของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคนคราวนี้คือการร่วมหารือที่นครเมลเบิร์นกับตัวแทนของอีกสามประเทศที่ร่วมอยู่ในกลุ่มซึ่งเรียกกันว่า the Quad อันประกอบด้วยสหรัฐฯ ออสเตรเลีย อินเดีย และญี่ปุ่นเกี่ยวกับเป้าหมายด้านนโยบายต่างๆ ซึ่งรวมถึงการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศรวมทั้งเรื่องการจัดหาวัคซีน โควิด-19 เพิ่มเติมให้กับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนหน้าการประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำของสหรัฐฯ กับญี่ปุ่นในเดือนพฤษภาคมนี้
ส่วนที่ฟิจิ ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ จะประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรีของฟิจิและผู้นำของประเทศอื่นๆ ที่เป็นหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้นั้น ประเด็นนโยบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและนโยบายด้านความมั่นคงในแปซิฟิกตอนใต้ก็จะได้รับความสำคัญ เพราะขณะนี้มีรายงานว่าจีนกำลังสนใจจะขอปรับปรุงลานบินบนเกาะแห่งหนึ่งของประเทศคิริบาติที่อยู่ห่างจากรัฐฮาวายของสหรัฐฯ เพียงราว 3,000 กิโลเมตรเท่านั้นเอง
และนายเดเนียล รัสเซลอดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชียแปซิฟิกในสมัยประธานาธิบดีโอบามา ซึ่งขณะนี้ทำงานอยู่กับสถาบันนโยบายของ Asia Society ได้ตั้งข้อสังเกตว่าขอบข่ายและความรวดเร็วที่จีนพยายามสร้างความสัมพันธ์เพื่อเข้าถึงประเทศที่เป็นหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้นั้นเหมือนเป็นนาฬิกาปลุกที่เตือนให้สหรัฐฯ ต้องเร่งให้ความสนใจกับภูมิภาคดังกล่าวเช่นกัน
และที่รัฐฮาวาย รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ มีกำหนดจะหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้เกี่ยวกับประเด็นปัญหาเกาหลีเหนือที่ได้ทดสอบยิงขีปนาวุธมาแล้วหลายครั้งตั้งแต่ต้นปี
การกลับมาเยือนประเทศในย่านเอเชียแปซิฟิกอีกครั้งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้มีขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากที่ผู้นำของจีนกับรัสเซียได้ประกาศระหว่างพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่งเรื่องความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ”อย่างไม่มีข้อจำกัด” เพื่อต่อต้านสหรัฐฯ และเพื่อสร้างระเบียบความสัมพันธ์โลกขึ้นใหม่บนพื้นฐานของการนิยามคำว่า”สิทธิมนุษยชน” และ ”ประชาธิปไตย” ตามคำจำกัดความของจีนกับรัสเซียเอง
นายชาร์ล อีเดล ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียกับออสเตรเลียของหน่วยงานคลังสมอง Center for Strategic and International Studies ของสหรัฐฯ มองว่าการเดินทางของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไปยังออสเตรเลียเพื่อร่วมหารือกับสมาชิกของกลุ่ม the Quad ซึ่งเป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นอย่างไม่เป็นทางการเพื่อต้านอิทธิพลของจีนในขณะที่สหรัฐฯ กำลังมีวาระสำคัญด้านนโยบายต่างประเทศจากการประจัญหน้ากับรัสเซียในเรื่องยูเครนนั้นสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญรวมทั้งปัญหาท้าทายต่างๆ ที่วอชิงตันยังจะต้องให้ความสนใจกับภูมิภาคอินโดแปซิฟิกนี้อยู่
และถึงแม้รัฐบาลสหรัฐฯ จะกล่าวว่าการสร้างกลุ่มความร่วมมือ AUKUS ซึ่งประกอบด้วยออสเตรเลีย อังกฤษ กับสหรัฐฯ เพื่อช่วยสนับสนุนเทคโนโลยีเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ให้กับออสเตรเลียและการขยายความร่วมมือของกลุ่มประเทศ the Quad ที่มีสหรัฐฯ ออสเตรเลีย อินเดีย กับญี่ปุ่นร่วมเป็นสมาชิกอยู่นั้นจะแสดงถึงความสนใจมองมายังอินโดแปซิฟิกก็ตาม
แต่นักวิเคราะห์หลายคนก็ชี้ว่าการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ตัดสินใจถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงการค้าเสรี TPP เดิมซึ่งขณะนี้กลายมาเป็น CPTPP แล้วนั้นได้บั่นทอนบทบาทและความเกี่ยวพันของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ลง โดยถึงแม้ประธานาธิบดีไบเดนจะเคยกล่าวไว้เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วว่าสหรัฐฯ จะเริ่มการเจรจาเรื่องกรอบความตกลงทางเศรษฐกิจอินโดแปซิฟิกหรือ Indo-Pacific Economic Framework ก็ตาม แต่ขณะนี้ก็ยังไม่มีรายละเอียดใดๆ ซึ่งนักวิเคราะห์บางคนเชื่อด้วยว่าวอชิงตันยังคงลังเลใจที่จะยอมให้ประเทศต่างๆในเอเชียเข้าถึงตลาดของสหรัฐฯ ได้ตามที่ต้องการ เพราะเกรงว่าเรื่องนี้อาจจะเป็นผลเสียต่อการสร้างงานและตำแหน่งงานต่างๆ ในสหรัฐเองได้
ที่มา: Reuters