ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า มาตรการลงโทษเจ้าหน้าที่เมียนมาในขณะนี้ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเมียนมาได้
ในสัปดาห์นี้ อังกฤษ แคนาดา และสหรัฐฯ ใช้มาตรการลงโทษที่มุ่งเป้าต่อเจ้าหน้าที่เมียนมา ในช่วงครบรอบหนึ่งปีของการรัฐประหารที่โค่นอำนาจรัฐบาลพลเรือนเมียนมา เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว
เจ้าหน้าที่ที่ถูกลงโทษมีทั้ง ธิดา อู่ อัยการสูงสุด, ตัน ตัน อู่ ประธานศาลสูง, ติน อู่ ประธานคณะกรรมการต่อต้านการทุจริต รวมทั้ง อู่ เทียน โซ อดีตนายพลและประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ถูกแต่งตั้งหลังการรัฐประหาร
เมื่อวันพฤหัสบดี กระทรวงการต่างประเทศเมียนมาระบุว่า มาตรการลงโทษดังกล่าวเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของเมียนมา
ในประเด็นนี้ เบ็น ฮาร์ดแมน ที่ปรึกษาด้านกฎหมายและนโยบายเมียนมาขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร EarthRights International ระบุว่า มาตรการลงโทษครั้งล่าสุดนี้ไม่เพียงพอที่จะส่งผลต่อรัฐบาลทหารเมียนมา
ฮาร์ดแมนกล่าวกับวีโอเอว่า มาตรการลงโทษของสหรัฐฯ มักเป็นการจำกัดไม่ให้บุคคลหรือบริษัทที่ถูกลงโทษ เข้าถึงทรัพย์สินของพวกเขาในสหรัฐฯ และไม่สามารถทำธุรกรรมกับบุคคลหรือบริษัทของสหรัฐฯ ได้ ดังนั้นมาตรการลงโทษต่อเจ้าหน้าที่ดังกล่าวจึงอาจแทบไม่มีผลอะไรต่อผู้ที่ไม่มีผลประโยชน์หรือทรัพย์สินอยู่นอกเมียนมา
เขากล่าวต่อว่า มาตรการครั้งนี้เพิ่มแรงกดดันให้รัฐบาลทหารเมียนมา แต่ไม่น่าส่งผลใหญ่อะไรในเร็ววันนี้
ทั้งนี้ หลังกองทัพเมียนมาโค่นอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว นักการเมืองที่ถูกขับไล่ได้รวมตัวจัดตั้ง “รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ” หรือ เอ็นยูจี และยืนยันว่า พวกตนมีอำนาจบริหารเมียนมาโดยชอบธรรม
ตุง อ่อง ชเว ตัวแทนของเอ็นยูจีในออสเตรเลีย กล่าวกับวีโอเอว่า ทางองค์กรเห็นด้วยกับมาตรการลงโทษล่าสุด แต่ต้องมีการดำเนินการมากกว่านี้เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อรัฐบาลทหารเมียนมาอย่างแท้จริง เช่น การใช้มาตรการลงโทษต่อกระทรวงน้ำมัน ก๊าซ และพลังงานซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของกองทัพเมียนมา
เศรษฐกิจของเมียนมาทรุดตัวลงอย่างมากนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า จีดีพีของเมียนมาอาจลดลง 18 เปอร์เซ็นต์ในปีที่ผ่านมา ขณะที่หน่วยงานจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ฟิทช์ โซลูชันส์ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเมียนมาอาจหดตัวลง 4.4 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้
ขณะที่เศรษฐกิจทรุดตัวลง เมียนมาต้องพึ่งพาการผลิตและส่งออกก๊าซธรรมชาติจากแหล่งทรัพยากรใต้ทะเลมากขึ้น โดยบริษัทผู้ลงทุนหลักมีทั้งบริษัทสัญชาติอเมริกันอย่างเชฟรอน และ Myanma Oil and Gas Enterprise หรือ MOGE ของรัฐบาลเมียนมา
สำนักข่าวเมียนมา นาว ระบุว่า โครงการก๊าซของเมียนมาอาจมีมูลค่า 1,400 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมดของประเทศในปีนี้
เมื่อเดือนที่แล้ว เชฟรอนและโททัลเอเนอร์จีส์ บริษัทน้ำมันสัญชาติฝรั่งเศส ประกาศว่าจะถอนตัวออกจากแหล่งก๊าซธรรมชาติในทะเลของเมียนมาจากเหตุผลเรื่องการทำรัฐประหาร ขณะนี้ นานาชาติจึงหันมาให้ความสนใจว่า จะมีการใช้มาตรการลงโทษต่อ MOGE มากขึ้นหรือไม่
ขิ่น โอมาร์ นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและผู้ก่อตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชน Progressive Voice เรียกร้องให้มีการขัดขวางเส้นทางรายได้ของรัฐบาลทหารเมียนมาให้มากกว่านี้
โอมาร์ระบุว่า รายได้จากทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะก๊าซและน้ำมัน เป็นแหล่งรายได้หลักของรัฐบาลทหารเมียนมาและเรียกร้องให้ผู้นำสหรัฐฯ และผู้นำฝรั่งเศสใช้มาตรการลงโทษต่อ MOGE เพื่อไม่ให้รัฐบาลทหารได้รับรายได้จากก๊าซและน้ำมัน
แม้เมียนมาจะเผชิญกับการต่อสู้กับกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธมานานหลายสิบปี แต่ขณะนี้รัฐบาลทหารเมียนมาต้องต่อสู้รายวันกับกองกำลังพิทักษ์ประชาชน หรือ พีดีเอฟ ที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารหลายพันคนหันมาจับอาวุธ โดยกองกำลังดังกล่าวเป็นหน่วยติดอาวุธของเอ็นยูจี
กองกำลังทหารเมียนมาใช้ความรุนแรงต่อการประท้วงทั่วประเทศ โดยองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Assistance Association for Political Prisoners ระบุว่า กองทัพสังหารประชาชนไปแล้วอย่างน้อย 1,510 คน
นางมิเชล บาเชเล ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวกับสำนักข่าวบีบีซีว่า ความขัดแย้งในเมียนมาอยู่ในระดับที่เรียกว่าเป็นสงครามกลางเมืองได้แล้ว เธอยังเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติดำเนินการมากกว่านี้เพื่อกดดันให้กองทัพเมียนมาฟื้นฟูประชาธิปไตย
เมื่อเดือนที่แล้ว นายปรัก สุคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ระบุว่า สถานการณ์ในเมียนมาเข้าข่ายเป็นสงครามกลางเมือง โดยเขายังเป็นทูตพิเศษด้านเมียนมาของอาเซียนอีกด้วย
เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา อาเซียนออกฉันทามติห้าข้อเพื่อบรรเทาสถานการณ์ในเมียนมา อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติตามฉันทามติมีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยขณะที่กองทัพเมียนมายังคงกดขี่ผู้เห็นต่างต่อไป ในขณะที่รัฐบาลทหารเมียนมายืนยันเมื่อวันพฤหัสบดีว่า ทางรัฐบาล “ยึดมั่น” ต่อสันติภาพ ความมั่นคง และผลประโยชน์ของชาวเมียนมาตามหลักฉันทามติห้าข้อดังกล่าว
นางโนเอลีน เฮย์เซอร์ ทูตพิเศษด้านเมียนมาของสหประชาชาติ ยังหวังว่าทุกฝ่ายในเมียนมาจะตกลงหยุดยิงได้ โดยเธอให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวชาเนล นิวส์ เอเชีย ว่า ฝ่ายตรงข้ามของกองทัพต้องเจรจาข้อตกลงแบ่งอำนาจกับกองทัพเพื่อฟื้นฟูวิกฤตด้านการเมืองและสิทธิมนุษชนในเมียนมา
อย่างไรก็ตาม องค์กรประชาสังคมจำนวน 247 องค์กรในเมียนมาปฏิเสธความเป็นไปได้ในการจับมือกับกองทัพ โดยองค์กรกลุ่มนี้ระบุในแลถงการณ์ร่วมว่า นางเฮย์เซอร์ต้องเข้าใจถึงปัญหารากลึกของวิกฤตในปัจจุบัน และ “ฟังเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง”
เมียนมาได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อปีค.ศ. 1948 และถูกปกครองในระบอบเผด็จการทหารเป็นส่วนใหญ่นับแต่นั้นมา
กองทัพเมียนมาอ้างโดยไม่มีหลักฐานว่า มีการทุจริตในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2020 เพื่อทำรัฐประหาร หลังจากนั้นนางออง ซาน ซู จี อดีตผู้นำพลเรือน และอดีตประธานาธิบดีวิน มินต์ ได้ถูกควบคุมตัวและตัดสินจำคุกจากหลายคดี
- รายงานจากผู้สื่อข่าววีโอเอ ทอมมี วอล์เกเกอร์ (Tommy Walker)