เปิดปม ‘ไอลีน กู่’ นักสกีที่เกิดในสหรัฐฯ-ลงแข่งโอลิมปิกในนามจีน

Advertisement with an image of Eileen Gu is seen at a bus stop in Beijing

โฉมหน้าของ ไอลีน กู่ นักกีฬาสกีสาววัย 18 ปีปรากฏอยู่ตามสถานที่ต่างๆทั่วประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นป้ายโฆษณาตามจุดโดยสารรถประจำทาง บนปกนิตยสาร Vogue China หรือแม้กระทั่งเสียงบรรยายของเธอที่แสดงทักษะการพูดภาษาจีนอย่างคล่องแคล่วในโฆษณา ‘ปักกิ่ง เกมส์ 2022’

ขณะที่เธอกลายเป็นสัญลักษณ์ของกีฬาโอลิมปิดฤดูหนาวที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 4 กุมภาพันธ์นี้ โดยประเทศจีนเป็นเจ้าภาพ ความสนใจเรื่องสัญชาติของเธอก็ตกเป็นข่าวมากขึ้น

นักกีฬาสาวสกีผู้นี้ เกิดวันที่ 3 กันยายน ปี 2003 ที่นครซานฟรานซิสโก ในรัฐแคลิฟอร์เนีย บิดาของเธอเป็นชาวอเมริกัน ส่วนมารดานั้นเป็นคนจีนที่ย้ายมาตั้งรกรากในสหรัฐฯ โดย ไอลีน กู่ เริ่มฝึกฝนการเล่นสกีตั้งแต่อายุเพียง 8 ขวบ และในปี 2018 เธอได้เข้าร่วมการแข่งขันใหญ่ๆหลายงานในนามของสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ปี 2019 สาวนักกีฬาผู้นี้ได้ประกาศผ่านอินสตราแกรมว่าเธอตัดสินใจลงแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่งในนามของประเทศจีน

นั่นเองจึงเกิดคำถามขึ้นมากมาย โดยเฉพาะอย่ายิ่งเมื่อพิจารณาถึงกฎหมายจีน ที่ไม่อนุญาตให้นักกีฬาของประเทศตนถือสองสัญชาติ (dual citizenship)

ข้อความในโพสต์ของเธอระบุว่า “ฉันภูมิใจในเชื้อชาติของฉัน และภูมิใจในการเติบโตแบบอเมริกันเช่นเดียวกัน…โอกาสในการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนหลายล้านคนที่ประเทศบ้านเกิดของแม่ฉันในโอลิมปิกฤดูหนาวถือเป็นโอกาสสำคัญครั้งหนึ่งในชีวิตที่ฉันจะสามารถช่วยสนับสนุนกีฬาที่ฉันรักได้”

นักวิเคราะห์มองว่า การตัดสินใจของไอลีนมีเบื้องลึกมากกว่านั้น เพราะนอกจากการเป็นนักกีฬาแล้ว เธอยังทำอาชีพเป็นนางแบบและตัวแทนแบรนด์หรูระดับโลกใหญ่ๆ เช่น Louis Vuitton และ Tiffany

ลิซ่า ไพค์ มาสเตอร์อะเล็กซิส อาจารย์ด้านการจัดการกีฬาแห่ง University of Massachusetts กล่าวกับวีโอเอว่า “จากการวิเคราะห์เป้าหมายต่างๆ(ของไอลีน) ที่รวมถึงการเป็นนักกีฬาโอลิมปิกที่คว้าเหรียญได้ การเป็นแบบอย่างที่ดีในสังคม การเป็นนางแบบ ท่ามกลางการเติบโตของตลาดจีนอย่างต่อเนื่อง การตัดสินใจครั้งนี้ของเธอและต้นสังกัด (บริษัทนางแบบระดับโลก) IMG จึงดูว่าเป็นกลยุทธ์ที่ชาญฉลาด”

ทางด้าน ซูซาน บราว์เนล อาจารย์มานุษยวิทยาแห่ง University of Missouri ที่เมือง St. Louis กล่าวเสริมว่า “สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับไอลีน คือ จำนวนของผู้สนับสนุนรายใหญ่หลายราย การที่เธอเลือกลงแข่งในนามของประเทศจีนนั้นช่วยให้เธอสามารถดึงดูดสปอนเซอร์เหล่านี้ได้”

FILE PHOTO: Snowboard: Aspen 2021 FIS Snowboard and Freeski World Championships

Red Bull ซึ่งเป็นหนึ่งในสปอนเซอร์หลักของเธอเคยมีข้อความระบุในเว็บไซต์ว่า ไอลีนได้สละสัญชาติอเมริกันและเข้ารับสัญชาติจีนเมื่ออายุ 15 ปีเพื่อให้สามารถลงแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่งในนามของประเทศจีนได้ เพราะกฎหมายจีนไม่อนุญาตให้ประชาชนถือสองสัญชาติ

สื่อ The Wall Street Journal ได้พยายามยืนยันสัญชาติของไอลีนเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่าน แต่แบรนด์ดังข้างต้นได้ลบข้อความดังกล่าวไปแล้ว และทางวีโอเอเองก็พยายามติดต่อ ไอลีน กู่ ตัวแทนของเธอ ต้นสังกัด IMG กระทรวงต่างประเทศของจีน และคณะกรรมการโอลิมปิกของจีนในประเด็นนี้เช่นกันแต่ไม่รับการตอบกลับ

ทั้งนี้ กฎของคณะกรรมการโอลิมปิกสากลระบุชัดเจนว่า ผู้เข้าแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ต้องถือสัญชาติของประเทศที่ตนเป็นตัวแทนเท่านั้น ส่วนเรื่องที่ว่านักกีฬาสามารถเป็นตัวแทนชาติใดได้จะได้รับการพิจารณาและตัดสินโดยบอร์ดของคณะกรรมการ

นอกจากนี้ ไอลีนยังจะต้องปฏิบัติตามกฎขององค์กรสกีสากล หรือ International Ski Federation (FIS) อีกด้วย ซึ่งองค์กรข้างต้นได้ระบุบนเว็บไซต์ว่า ไอลีนเป็นนักกีฬาของประเทศจีน

FILE PHOTO: Snowboard: Aspen 2021 FIS Snowboard and Freeski World Championships

ลิซ่า ไพค์ มาสเตอร์เล็กซิส อาจารย์ด้านการจัดการกีฬาแห่ง University of Massachusetts อธิบายว่า “นักกีฬาสกีจะต้องได้รับการรับรองโดยประเทศของตนเพื่อเป็นตัวแทน เพราะฉะนั้น ดูเหมือนว่า ไอลีน กู่ จะเปลี่ยนสัญชาติแล้ว ซึ่งทางสื่อในประเทศจีนก็ได้รายงานว่าเธอได้ทำเช่นนั้นเมื่อปี 2019 ที่เธอมีอายุ 15 ปีนั่นเอง”

อาจารย์ผู้นี้คาดว่าทางการจีนอาจจะยกเว้น ไอลีน กู่ เป็นกรณีพิเศษในเรื่องการถือสองสัญชาติ เพราะโดยปกติแล้ว การถือสองสัญชาติจะไม่ได้รับการอนุมัติโดยทางการจีน ซึ่งกลับกันกับสหรัฐฯ

แต่ อาจารย์ บราว์เนลแห่ง University of Missouri-St. Louis กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกที่นักกีฬาจะเลือกเป็นตัวแทนของชาติอื่น นอกจากประเทศบ้านเกิดของตน เช่น กรณีของทีมนักวิ่งของสหรัฐฯที่เข้าไปแข่งขันโอลิมปิก ‘ริโอ เกมส์’ ในปี 2016 ที่ประเทศบราซิล โดยในทีมของสหรัฐฯมีนักวิ่งที่เกิดในประเทศเคนยาแต่กลับเลือกที่จะแข่งในนามสหรัฐฯถึง 4 คน

ไฮดี้ แกรบเพ็นดอร์ฟ อาจารย์ด้านการกีฬาแห่ง Western Carolina University พูดเสริมว่า การออกไปแสวงหานักกีฬาจากประเทศอื่นให้มาแข่งขันเป็นตัวแทนให้กับประเทศที่ไม่ใช้บ้านเกิดของนักกีฬาคนนั้น ถือว่าไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกีฬาโอลิมปิกและขัดกับจิตวิญญาณของความเป็นโอลิมปิก ซึ่งเธอแนะนำว่าคณะกรรมการโอลิมปิกควรหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาพิจารณาในอนาคต