Your browser doesn’t support HTML5
‘แอมะซอน’ เตรียมปรับลดพนักงานหลายร้อยตำแหน่ง-ยกเครื่องบริหารใหม่
อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่จากซีแอตเติล “แอมะซอน” เผยแผนปรับลดพนักงานหลายร้อยตำแหน่ง หวังปรับโครงสร้างการบริหารครั้งใหญ่ เพื่อเปิดทางให้กับธุรกิจที่กำลังเติบโตของบริษัท
Seattle Times รายงานว่า แผนการปรับลดพนักงานรอบนี้ จะกระทบฝ่ายธุรกิจค้าปลีก ในแผนกของเล่น หนังสือ และสินค้าเกี่ยวกับอาหาร โดยจะปรับลดฝ่ายบริหารที่ซับซ้อนของสำนักงานใหญ่ในซีแอตเติลและพนักงานในต่างประเทศบางส่วน และเปิดพื้นที่ให้กับธุรกิจที่กำลังเติบโต อย่างผู้ช่วยอัจฉริยะ Alexa ระบบแพลตฟอร์มประมวลผลแบบคลาวด์ Amazon Web Service และธุรกิจบันเทิงบนแพลตฟอร์มดิจิตัล
ก่อนหน้านี้ มีกระแสข่าวการหยุดจ้างพนักงานใหม่ของแอมะซอนเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว รวมทั้งมาได้จังหวะที่แอมะซอนอยู่ระหว่างการหาทำเลตั้งสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ ซึ่งเมืองที่ได้รับเลือก จะได้เงินลงทุนในพื้นที่ถึง 5,000 ล้านดอลลาร์ และสร้างงานให้พลเมืองอีก 50,000 ตำแหน่งด้วย
อย่างไรก็ตาม การปรับลดพนักงานของแอมะซอน สวนทางกับการเติบโตของธุรกิจตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยเมื่อปีที่แล้วแอมะซอนสร้างงาน 130,000 ตำแหน่งทั่วโลก ไม่รวมกับการควบรวมห้าง Whole Foods ที่มีพนักงานอยู่แล้ว 90,000 ตำแหน่ง อีกทั้งตอนนี้ยังมีตำแหน่งงานว่างที่เปิดรับอยู่เกือบ 4,000 ตำแหน่งในซีแอตเติล และอีก 12,000 ตำแหน่งทั่วโลก
ถุงลมนิรภัยทำพิษ! ‘ฟอร์ด’ สั่งเรียกคืน-ห้ามขับ รถกระบะอีก 3 หมื่นคัน
ยักษ์ใหญ่ด้านยานยนต์สหรัฐฯ อย่าง ฟอร์ด เจอพิษถุงลมนิรภัย ทากาตะ อีกรอบ เมื่อทีมสอบสวนของฟอร์ด พบรถกระบะ ฟอร์ด เรนเจอร์ รุ่นปี 2006 33,428 คันที่จำหน่ายในอเมริกาเหนือ มีปัญหาเรื่องถุงลมนิรภัย ถึงขั้นเป็นอันตรายหากขับขี่
รถกระบะรุ่นที่พบปัญหา ได้แก่ ฟอร์ด เรนเจอร์ ที่ผลิตระหว่างวันที่ 5 สิงหาคม ถึง 15 ธันวาคม 2548 รวมทั้งรถกระบะ มาสด้า บี ซีรีส์ ที่ผลิตโดยฟอร์ดในช่วงเวลาเดียวกันด้วย โดยทางบริษัทฟอร์ดได้ขอความร่วมมือให้เจ้าของรถที่ผลิตในช่วงเวลาดังกล่าว ห้ามขับรถก่อนการเปลี่ยนถุงลมใหม่ และให้ติดต่อไปยังบริษัททันที
ก่อนหน้านี้ ฟอร์ดได้ประกาศเรียกคืนและมีคำสั่งห้ามขับรถกระบะฟอร์ด เรนเจอร์ 2,900 คันที่พบปัญหาเรื่องถุงลมนิรภัย เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ตามหลังกรณีที่มีชายจากเวสต์ เวอร์จิเนีย เสียชีวิตจากถุงลมนิรภัยระเบิด
ที่ผ่านมา มีรายงานความสูญเสียอันเนื่องมาจากถุงลมนิรภัยรถยนต์ที่ผลิตโดยบริษัททากาตะ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 22 คน และบาดเจ็บกว่า 180 คน และมีการเรียกคืนรถที่พบปัญหาดังกล่าวมากถึง 69 ล้านครั้งในสหรัฐฯ และมากกว่า 100 ล้านครั้งทั่วโลก