Your browser doesn’t support HTML5
นักเขียนอินโดนีเซีย เคลื่อนไหวผ่านสื่อสังคมออนไลน์ สนับสนุนให้วัยรุ่นในประเทศแต่งงานกันโดยไม่ต้องศึกษาดูใจ เพราะเสียเวลา สิ้นเปลือง และกระทบความสัมพันธ์ครอบครัว ท่ามกลางปัญหาการแต่งงานตั้งแต่เด็กในสังคมอินโดนีเซียที่พุ่งสูงติด 1 ใน 10 ของโลก
La Ode Munafar นักเขียนชาวอินโดนีเซีย วัย 26 ปี เริ่มต้นโครงการ Indonesia Tanpa Pacaran หรือ อินโดนีเซียไม่ต้องการการเกี้ยวพาราสี ผลักดันให้วัยรุ่นในประเทศตัดขั้นตอนการคบหาดูใจก่อนแต่งงาน ซึ่งมีผู้ติดตามทาง Facebook มากกว่า 2 แสนคน และอีก 3 แสนคนใน Instagram ภายในเวลาแค่ 2 ปี และทุกๆวันจะมีผู้สนใจติดตามผ่านโซเชียลมีเดียมากถึง 1 พันคน
โครงการ Indonesia Tanpa Pacaran ตีพิมพ์หนังสือมากกว่า 60 เล่ม ให้คำแนะนำด้านความสัมพันธ์แบบส่วนตัวแก่ผู้ที่สนใจ ผ่านการอบรมสัมมนา คอร์สเรียนออนไลน์ และห้องแชทส่วนตัวผ่านทาง WhatsApp โดยจะต้องเสียค่าธรรมเนียม 1 แสน 7 หมื่นรูเปีย หรือราว 442 บาท เพื่อสมัครสมาชิกเข้าใช้บริการ
Munafar เชื่อว่า วัยรุ่นยุคนี้ตกเป็นเหยื่อของการคบหาดูใจ ที่สิ้นเปลืองเวลาและเงินทอง เพื่อให้คนที่พวกเขาชื่นชอบหันมาสนใจ ซ้ำร้ายการออกเดทยังอาจทำลายความสัมพันธ์ในครอบครัวได้
ขณะที่การเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการออกเดทกำลังเป็นประเด็นร้อนในอินโดนีเซีย อีกด้านหนึ่งที่จังหวัดสุมาตรา มี 2 งานวิวาห์ที่สร้างความประหลาดใจ ทั้งการแต่งงานระหว่างนักเรียนมัธยมด้วยกัน และอีกคู่เป็นเด็กชาย วัย 16 ปี ขู่จะฆ่าตัวตายหากไม่ได้แต่งงานกับหญิงวัย 71 ปี สะท้อนปัญหาการแต่งงานตั้งแต่วัยเด็ก ที่เป็นปัญหาใหญ่กว่าการออกเดทเสียอีก
ข้อมูลจาก กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ องค์การ Unicef เปิดเผยว่า เด็กหญิงชาวอินโดนีเซียราว 14-35 เปอร์เซนต์ แต่งงานก่อนอายุ 18 ปี และตอนนี้อินโดนีเซีย ติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่มีเจ้าสาวอายุน้อยมากที่สุดในโลก
คุณเอมิลี มินนิก ผู้เชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองสิทธิเด็กขององค์การ Unicef ในอินโดนีเซีย หยิบยกข้อมูลจากสำนักสถิติของอินโดนีเซีย ที่ระบุว่า การแต่งงานตั้งแต่อายุน้อยนั้นส่งผลกระทบเชิงลบกับเด็กผู้หญิง เพราะเด็กหญิงที่เข้าประตูวิวาห์ก่อนจะมีอายุครบ 18 ปี มีโอกาสเรียนไม่จบชั้นมัธยมมากกว่าเด็กที่แต่งงานหลังอายุครบ 18 ปีถึง 6 เท่า ทว่าปัญหาความยากจนทำให้เด็กหญิงเหล่านี้ต้องถูกกดดันให้แต่งงานก่อนอายุ 18 ปีถึง 4 เท่าตัว และเลวร้ายกว่านั้น คือ พวกเธอมีความเสี่ยงที่จะเผชิญปัญหาการตั้งครรภ์และการคลอดบุตร ที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของเด็กหญิงอายุ 15-19 ปีทั่วโลกด้วย
แม้ว่าการปัดฝุ่นประเพณีแต่งงานโดยไม่ต้องศึกษาดูใจกัน ที่มีการเคลื่อนไหวในยุคสมัยนี้ อาจเป็นสาเหตุให้การแต่งงานตั้งแต่วัยเด็กนั้นพุ่งสูงขึ้นได้ แต่ต้องยอมรับว่า กฏหมายอินโดนีเซีย อนุญาตให้เด็กหญิงแต่งงานได้เมื่ออายุถึง 16 ปี ขณะที่เด็กชายจะแต่งงานได้เมื่ออายุ 19 ปี และต้องได้รับอนุญาตจากครอบครัวก่อน แต่ชาวอินโดนีเซียสามารถใช้ช่องโหว่ของกฏหมาย Nikah Siri ภายใต้กฏหมายของชาวมุสลิมในการแต่งงานตั้งแต่อายุน้อยได้
หากอินโดนีเซียต้องการแก้ปัญหาการแต่งงานก่อนวัยอันควร อาจต้องมองไปถึงการแก้ปัญหาความยากจน วัฒนธรรมประเพณีการออกเรือนของอินโดนีเซียที่ยอมรับการแต่งงานตั้งแต่วัยเด็ก รวมทั้งเพิ่มหน่วยงานบริการสังคมที่เคลื่อนไหวเพื่อควบคุมปัญหานี้ตั้งแต่ต้นเหตุ.