นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สั่งปลด นางแซลลี เยตส์ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ ออกจากตำแหน่งในเวลาไม่กี่ชั่วโมง หลังจากรักษาการ รมต.ยุติธรรม สั่งให้เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ปฏิเสธที่จะปกป้องการออกคำสั่งห้ามคนเข้าเมืองจาก 7 ประเทศมุสลิมซึ่งเป็นคำสั่งพิเศษฝ่ายบริหารของ ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์
แถลงการของทำเนียบขาวระบุว่า นางแซลลี เยตส์ ที่รักษาการในตำแหน่งนี้มาจากรัฐบาลชุดเก่าของ นายบารัค โอบามา นั้น 'ทรยศต่อกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯด้วยการปฏิเสธที่จะบังคับใช้กฎหมายที่เป็นคำสั่งเพื่อปกป้องพลเมืองชาวอเมริกัน'
นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ คนนี้ 'มีจุดอ่อนในเรื่องการปกป้องชายแดนและกฎหมายด้านการตรวจคนเข้าเมือง'
ปธน.ทรัมป์ ได้แต่งตั้ง นางดานา โบเอนเต อัยการศาลรัฐบาลกลางสหรัฐฯ เขตตะวันออกของรัฐเวอร์จิเนีย ขึ้นรักษาการแทน จนกว่า นายเจฟฟ์ เซสชั่น ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯคนใหม่ที่ได้รับเลือกจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ให้ขึ้นรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อผ่านการลงมติจากวุฒิสภา
ก่อนหน้านี้ นางแซลลี เยตส์ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ เขียนจดหมายถึงเจ้าหน้าที่กฎหมายและอัยการในกระทรวงยุติธรรมว่า 'จะขอรับผิดชอบในการสร้างความมั่นใจว่าบทบาทการทำหน้าที่ในศาลยุติธรรมของฝ่ายอัยการนั้นจะยังคงสอดคล้องกับภาระหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันที่มุ่งมั่นแสวงหาความยุติธรรมและยืนหยัดในความถูกต้อง'
หลายหน่วยงานยื่นฟ้องคำสั่ง 'ทรัมป์' ผิดรัฐธรรมนูญ
หลายหน่วยงานยื่นฟ้องต่อศาลรัฐบาลกลางสหรัฐฯ กรณีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกคำสั่งพิเศษฝ่ายบริหารในการห้ามคนเข้าเมืองจาก 7 ประเทศมุสลิมเข้าสหรัฐฯเป็นเวลา 90 วัน และระงับการรับผู้ลี้ภัยเป็นเวลา 120 วัน ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ ในวันจันทร์ (30 ม.ค.) ตามเวลาสหรัฐฯ
สมาชิกองค์กร สภาว่าด้วยความสัมพันธ์อเมริกัน-อิสลาม หรือ Council on American-Islamic Relations (CAIR) ยื่นฟ้องที่ศาลรัฐบาลกลางในรัฐเวอร์จิเนีย ขณะที่อีกส่วนหนึ่งคืออธิบดีกรมอัยการของรัฐวอชิงตัน รัฐทางฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ ยื่นฟ้องในกรณีเดียวกันเพื่อให้ศาลพิจารณาว่าการประกาศห้ามคนเข้าเมืองของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา
Lena Masri ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายของ สภาว่าด้วยความสัมพันธ์อเมริกัน-อิสลามบอกว่า การยื่นฟ้องเป็นการยื่นฟ้องภายใต้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ ในนามพลเมืองชาวอเมริกันและที่ไม่ใช่พลเมืองอเมริกัน และระบุว่าคำสั่งของ ทรัมป์ นั้นเป็นการกีดกันชาวมุสลิมซึ่งมีความชอบธรรมทางกฎหมายที่จะอยู่อาศัยในสหรัฐฯไม่ให้เข้าในสหรัฐฯ
'โอบามา' แถลงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเลือกปฏิบัติทางความเชื่อและศาสนาด้วยการเอา 'ค่านิยมขาวอเมริกัน' ไปแขวนเป็นเดิมพัน
นายบารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ แสดงความคิดเห็นเป็นครั้งแรกผ่านนายเควิน ลีวิส โฆษกส่วนตัวว่า รู้สึกมีกำลังใจที่ได้เห็นการยกระดับความสนใจในเรื่องนี้จากชุมชนต่างทั่วประเทศ และพลเมืองชาวอเมริกันกำลังใช้สิทธิของตนตามรัฐธรรมนูญในการที่จะจัดการชุมนุมและแสดงความคิดเห็นให้ผู้ที่พวกเขาได้เลือกตั้งเข้าไปได้รับฟัง และเป็นสิ่งที่คาดหวังที่จะได้เห็นอย่างเต็มที่ในยามที่ค่านิยมของชาวอเมริกันถูกนำไปเป็นเดิมพัน
โฆษกของประธานาธิบดีโอบามา ไม่ได้กล่าวถึงชื่อของประธานาธิบดีทรัมป์ หรือพาดพิงการออกคำสั่งพิเศษฝ่ายบริหารดังกล่าวแต่กล่าวว่า อดีตประธานาธิบดีโอบามา ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับแนวคิดที่จะเลือกปฏิบัติต่อบุคคลเพียงเพราะสืบเนื่องจากความเชื่อหรือศาสนาของบุคคลเหล่านั้น
ขณะที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวพาดพิงถึง คำสั่งในสมัยเมื่อครั้งนาย บารัค โอบามา เป็นประธานาธิบดีว่า ได้เคยสั่งยับยั้งคนเข้าเมืองจากอิรัก เมื่อปี ค.ศ.2011 หลังจากทางการ FBI ค้นพบว่าอาจมีผู้ก่อการร้ายจำนวนหนึ่งเตรียมเดินทางเข้าสหรัฐฯ ผ่านโครงการผู้ลี้ภัย 2 ปีก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีโอบามา ไม่ได้ออกคำสั่งที่จะห้ามผู้อพยพชาวอิรัก เพียงแต่ออกคำสั่งให้มีการเข้มงวดกวดขันมากยิ่งขึ้นเพื่อชะลอการรับคนเข้าเมืองจากอิรักเท่านั้น ซึ่งตามประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมา อดีตประธานาธิบดีมักจะไม่แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ผู้ที่รับตำแหนางประธานาธิบดีคนใหม่ เพื่อให้พื้นที่และเวลาในการทำงาน แต่ ประธานาธิบดีโอบามา เรียกตนเองว่า เป็นพลเมืองชาวอเมริกันที่มีความวิตกกังวลอย่างลึกซึ้งต่อประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับค่านิยมของอเมริกาเป็นสำคัญ