ขณะนี้ ไก่และไก่งวงเกือบ 23 ล้านตัวในสหรัฐฯ ถูกฆ่าทิ้งเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก และสวนสัตว์หลายแห่งในเขตอเมริกาเหนือได้พยายามออกมาตรการดูแลต่างๆที่รัดกุมขึ้น เนื่องจากไม่ต้องการให้สัตว์ปีกที่หายากหรือกำลังจะสูญพันธุ์ต้องประสบชะตากรรมเดียวกัน
มาเรีย แฟรงกี หัวหน้าฝ่ายสวัสดิภาพสัตว์แห่ง Toronto Zoo ที่ประเทศแคนาดา ซึ่งดูแลและพยายามขยายพันธุ์นก Loggerhead Shrike เพื่อปล่อยสู่ป่า กล่าวกับสำนักข่าวเอพีว่า ความรู้สึกสูญเสียที่บีบหัวใจจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน หากต้องกำจัดสัตว์ทิ้ง เพราะ “สวัสดิภาพของสัตว์เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และเจ้าหน้าจำนวนมากรู้สึกผูกพันกับสัตว์ต่างๆที่พวกเขาดูแลที่ด้วย”
เพราะเหตุนี้ Toronto Zoo จึงสร้างหลังคาคลุมพื้นที่จัดแสดงสัตว์ปีกกลางแจ้งเพิ่มและหมั่นตรวจสอบตาข่ายรอบกรงเพื่อป้องกันไม่ให้สัมผัสกับนกจากที่อื่นที่อาจจะบินเข้ามาได้
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า นกและสัตว์ปีกอื่นๆแพร่เชื้อไวรัสไข้หวัดนกผ่านอุจจาระและน้ำมูก การสัมผัสของสัตว์ประเภทดังกล่าวกับอุปกรณ์ต่างๆที่ติดเชื้อ เช่น ผ้าหรือรองเท้า และการถูกเคลื่อนย้ายโดยยานพาหนะที่ติดเชื้อล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อการระบาดทั้งสิ้น
งานวิจัยระบุว่า นกขนาดเล็กที่ถูกจัดแสดงในกรงหรือในอาคารที่แออัดนั้นมีความเสี่ยงในการแพร่ไวรัส และหนูที่อาจจะแอบเข้าไปในกรงนกหรือตัวอาคารยังสามารถเป็นพาหนะนำโรคของไข้หวัดนกด้วย
มาตรการหลักๆที่สวนสัตว์ต่างๆได้นำมาปฏิบัติ ได้แก่ การลดการสัมผัสระหว่างสัตว์ปีกที่เลี้ยงกับสัตว์ตามธรรมชาติหรือกับมนุษย์ รวมถึงกฎที่ว่าผู้แลสัตว์ต้องเปลี่ยนรองเท้ายางและใส่ชุดป้องกันเชื้อโรคก่อนเข้ากรงและการแยกสัตว์ปีกให้อยู่ในฝูงที่ขนาดเล็กลง
ถึงแม้ในปัจจุบันจะไม่มีการรายงานการระบาดของไข้หวัดนกตามสวนสัตว์ต่างๆ แต่เจ้าหน้าที่พบนกป่าที่ตายและมีเชื้อไวรัสดังกล่าวในร่างกาย ยกตัวอย่างจากกรณีของสัตว์แห่ง Blank Park Zoo ในเมืองดิมอยน์ รัฐไอโอวา เจ้าหน้าที่พบเป็ดป่าตัวหนึ่ง เข้ามาตายในพื้นที่ของสวนสัตว์หลังเกิดพายุทอร์นาโด โดยผลการตรวจหาเชื้อไข้หวัดนกจากห้องทดลองยืนยันว่าเป็ดตัวนั้นติดไวรัส
กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ระบุว่า หากนกและสัตว์ปีกตามสวนสัตว์เป็นไข้หวัดนก เจ้าหน้าที่สามารถแยกสัตว์ที่ติดไวรัสออกจากสัตว์ตัวอื่นๆ เพื่อรักษาตัวหรือทำให้สัตว์ตัวนั้น หรือกำจัดตัวอื่นๆที่อยู่ในฝูงเดียวกันในจำนวนจำกัด ต่างจากในกรณีของสัตว์ปีกที่เลี้ยงตามฟาร์ม ที่จะต้องถูกกำจัดทิ้งทั้งเล้าเพราะไวรัสหวัดนกแพร่กระจายได้ง่ายมาก
ซารา วู้ดเฮ้าส์ หัวหน้าฝ่ายสุขภาพสัตว์แห่ง Henry Doorly Zoo and Aquarium ที่เมือง โอมาฮา รัฐ เนแบรสกา กล่าวกับสำนักข่าวเอพีว่า เธอรู้สึกดีกับมาตรการรับมือหลังได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่จากรัฐและรัฐบาลกลางถึงการร่วมมือกันเพื่อลดการระบาดของไข้หวัดนก ทางการได้ย้ำกับเธอว่า การกำจัดสัตว์ในสวนสัตว์ทิ้งจะถูกใช้เมื่อหมดหนทางอื่นแล้วเท่านั้น โดยเจ้าหน้าที่และสัตวแพทย์จากทางการจะเป็นผู้ประเมินว่าสัตว์ตัวไหนจำต้องถูกกำจัดทิ้ง
ลูอิส พาดิลลา รองประธานการดูแลสัตว์แห่ง Saint Louis Zoo กล่าวว่า “การทำให้สัตว์การทำการุณยฆาต เป็นตัวเลือกเดียวเท่านั้นที่ยับยังการระบาดได้เด็ดขาด ดังนั้น เจ้าหน้าที่ดูแลสัตว์จึงพยายามปกก้องสัตว์ของพวกเขาทุกด้วยมาตรการที่เข้มงวด”
สัตวแพทย์ พิลา ฟิช แห่งสวนนก The National Aviary ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ในเมืองพิตต์สเบิร์กกล่าวว่า เจ้าหน้าที่กำลังตรวจสุขภาพของนกแต่ละตัวทั้งหมดราว 500 ตัวในสวน ซึ่งนกบางส่วนนั้นอาศัยอยู่ในตู้กระจกขนาดใหญ่หรือพื้นที่อาศัยกลางแจ้งอยู่แล้ว นกตามธรรมชาติจึงไม่สามารถเข้าไปสัมผัสได้
ทางด้าน CEO ชอน พุดนี แห่ง Kansas City Zoo กล่าวว่า ผู้เข้าชมสวนสัตว์บางคนบ่นถึงการที่อดดูนก แต่ส่วนใหญ่เข้าใจถึงสถานการณ์ปัจจุบันและมาตรการป้องกัน ทั้งนี้ นกเพนกวินอาจเป็นหนึ่งในสัตว์ปีกที่ไม่ถูกย้ายไปไหนในสวนสัตว์เพราะกรงของพวกมันที่เป็นกระจกแก้วได้ป้องกันไม่ให้นกตามธรรมชาติสามารถบินเข้าไปได้
ท้ายสุดนี้ เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานรัฐย้ำว่า ไข้หวัดนกจะไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของไข่หรือเนื้อไก่และ ไม่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้บริโภค เพราะสัตว์ปีกที่ติดเชื้อจะไม่ได้รับการอนุมัติให้นำมาขายแก่ผู้บริโภค นอกจากนี้ การประกอบอาหารอย่างถูกหลักสุขอนามัยสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียและไวรัสในสัตว์ปีกและไข่ได้
ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐฯ (CDC) ระบุว่า ไม่เคยมีการรายงานการติดเชื้อไข้หวัดนกในมนุษย์ในสหรัฐฯ ตามรายงานของสำนักข่าวเอพี
- ที่มา: เอพี