ชาติตะวันตกกล่าวหาว่า รัสเซียกำลังนำประเด็นเรื่องการใช้ระเบิดกัมมันตรังสี หรือ dirty bomb เป็นข้ออ้างเพื่อยกระดับการโจมตียูเครน ในขณะที่รัสเซียยืนยันว่า ยูเครนวางแผนใช้ระเบิดดังกล่าวโจมตีใส่รัสเซีย ซึ่งทางรัฐบาลกรุงเคียฟออกมาปฏิเสธอย่างแข็งกร้าว
พลโท อิกอร์ คิริลลอฟ หัวหน้ากองกำลังปกป้องนิวเคลียร์ อาวุธชีวภาพและอาวุธเคมี ของรัสเซีย แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในวันจันทร์ว่า กองทัพรัสเซียกำลังเตรียมพร้อมเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสี ในขณะที่กองทัพยูเครนกำลังรุกคืบเข้าไปในเขตปกครองเคอร์ซอนที่รัสเซียกล่าวอ้างการควบรวมเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย
รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย เซอร์เก ชอยกู พูดคุยทางโทรศัพท์กับรัฐมนตรีกลาโหมฝรั่งเศส อังกฤษ และตุรกี ในวันอาทิตย์ เพื่อหารือถึง "สถานการณ์ที่ย่ำแย่ลงอย่างรวดเร็ว" พร้อมกล่าวหาว่ายูเครนกำลังวางแผนใช้ระเบิดกัมมันตรังสี
อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีต่างประเทศของฝรั่งเศส อังกฤษและสหรัฐฯ มีแถลงการณ์ร่วมกันปฏิเสธข้อกล่าวหาของรัสเซีย และยังคงยืนยันการสนับสนุนยูเครนอย่างเต็มที่
"ประเทศของเราขอยืนยันปฏิเสธข้อกล่าวหาเท็จของรัสเซียว่า ยูเครนกำลังเตรียมใช้ระเบิดกัมมันตรังสีในดินแดนของยูเครนเอง... ทั่วโลกจะสามารถมองเห็นได้ชัดว่าเป็นความพยายามของรัสเซียที่ต้องการใช้ข้อกล่าวหานี้เป็นข้ออ้างในการยกระดับการโจมตี"
ขณะที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ มีแถลงการณ์ว่า ประธานผู้บัญชาการเหล่าทัพร่วมของสหรัฐฯ พลเอกมาร์ค มิลลีย์ ได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับผู้บัญชาการกองทัพรัสเซีย และทั้งสองฝ่ายตกลงกันที่จะรักษาช่องทางการสื่อสารที่เปิดกว้างระหว่างกันเอาไว้
ทางด้านยูเครนออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาจากทางรัสเซีย และกล่าวหากลับว่ารัสเซียเองที่กำลังวางแผนใช้ระเบิดกัมมันตรังสีและพยายามป้ายความผิดมายังยูเครน
รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน ดมีโทร คูเลบา ทวีตว่า "คำโกหกของรัสเซียเกี่ยวกับข้อกล่าวหาว่ายูเครนวางแผนใช้ระเบิดกัมมันตรังสีนั้นทั้งไร้สาระและเป็นอันตราย"
ประธานาธิบดียูเครน โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี กล่าวต่อประชาชนเมื่อวันอาทิตย์ว่า รัสเซียเป็นเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ที่สามารถใช้อาวุธนิวเคลียร์ได้ และว่า "หากรัสเซียกล่าวหาว่ายูเครนกำลังเตรียมการบางอย่าง นั่นหมายความว่ารัสเซียกำลังเตรียมทำเช่นนั้นเสียเอง... ขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่ประชาคมโลกต้องตอบโต้อย่างรุนแรงที่สุดเท่าที่ทำได้"
ทั้งนี้ ระเบิดกัมมันตรังสี หรือ Dirty bomb คือระเบิดที่บรรจุสารกัมมันตรังสีเอาไว้ซึ่งจะกระจายออกไปเมื่อถูกระเบิด โดยคณะกรรมการกำกับดูแลนิวเคลียร์แห่งสหรัฐฯ หรือ NRC ชี้ว่า ระเบิดประเภทนี้จะปล่อยกัมมันตรังสีออกมาในปริมาณที่ไม่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตในทันทีหรือทำให้เจ็บป่วยรุนแรง แต่อาจสร้างความตื่นตระหนกและทำให้เกิดการปนเปื้อนสิ่งที่ถูกระเบิดได้ ขณะที่ระเบิดนิวเคลียร์จะมีอานุภาพรุนแรงกว่าหลายล้านเท่า
- ข้อมูลบางส่วนจากเอพี เอเอฟพี และรอยเตอร์