ในค่ำคืนของวันเกิด หลายคนคาดหวังของขวัญที่ต่างกันไป แต่สำหรับ โยชิ ฮารายามา สิ่งที่เขาปราถนา คือการเปิดบัญชีซื้อขายหุ้น ภายใต้ชื่อของเขาเอง
ตามกฏหมายของประเทศสหรัฐฯ ผู้ที่มีอายุอย่างน้อย 18 ปีเท่านั้น ถึงจะมีสิทธิ์เปิดบัญชีการลงทุนอย่างถูกต้อง ทันทีที่นาฬิกาแสดงเวลาเที่ยงคืน โยชิ ลูกครึ่งเชื้อสายลาวและญี่ปุ่นมีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ เขาไม่รีรอที่จะเปิดบัญชีสำหรับการลงทุนตั้งแต่วินาทีแรก
ช่วงเวลาปกติเราจะได้เห็นโยชิ ในบทบาทของนักเรียน เอกด้านธุรกิจ และทำงานพิเศษในร้านอาหารไทย แต่หลังจากเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทำให้เขามีเวลาว่างเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับเงินเก็บในบัญชีราว 3,000 ดอลลาร์ ทำให้เขาตัดสินใจเริ่มต้นลงทุนในตลาดหุ้น
โยชิบอกว่า “เจ้านายบอกให้ผมหยุดทำงานและพักอยู่บ้าน ในช่วงเดือนนั้นผมว่างมาก เลยเริ่มศึกษาด้านการลงทุน”
สิ่งที่เกิดขึ้น คือโยชิสามารถสร้างผลกำไรได้อย่างน่าประทับใจ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ 2563 จากเงินลงทุนตั้งต้น 3,000 ดอลลาร์ เขาบริหารการลงทุน จนทำให้ตัวเลขในบัญชีนั้นสูงกว่า 12,000 ดอลลาร์ เรื่องราวของโยชิ ถือว่าเป็นหนึ่งในตัวอย่างของนักลงทุนรุ่นใหม่ ที่ก้าวเข้าสู่สังเวียนการเงิน ท่ามกลางวิกฤติของโควิด-19
การเลือกใช้แอพลิเคชั่นอย่างเช่น แอพฯ โรบินฮูด (Robinhood) สำหรับการซื้อขายหุ้น รวมถึงช่องทางแพลทฟอร์มอย่าง Interactive Brokers (IBKR) กำลังเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น อย่างแอพฯ โรบินฮูด สามารถดึงดูดนักลงทุนหน้าใหม่ได้เป็นจำนวนมาก โดยอายุเฉลี่ยของผู้ใช้งานอยู่ที่ 31 ปี สะท้อนให้เห็นว่าผู้ใช้งานส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ส่วน Interactive Brokers ก็มีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นสูงถึง 383,000 ราย จากปี พ.ศ.2563 เท่านั้น
อย่างไรก็ดี “ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง” ยังคงเป็นประโยคที่ใช้ได้อยู่เสมอ โดยเฉพาะกับกลุ่มนักลงทุนหน้าใหม่ ที่ต้องการเป็นผู้มั่งคั่งในเวลาอันรวดเร็ว ความเจ็บปวดจากการสูญเสียเงินลงทุนยังมีให้เห็นไม่เว้นในแต่ละวัน โยชิ เล่าให้ฟังถึงช่วงเวลาอันเจ็บปวดว่า “ผมลงทุน คอลออพชัน (Call Option) ในหุ้นเทสลา (Tesla) ครั้งแรกแล้วได้กำไรราว 1 พันดอลลาร์ ผมนึกว่าตัวเองเข้าใจอย่างถ่องแท้แล้ว เลยลงทุนอีกครั้งแบบเทหน้าตัก ปรากฏว่าราคาหุ้นดิ่งลง ทั้งต้นทุนและกำไรราวๆ 2 พันดอลลาร์หายไปหมดเลย ตอนนั้นผมรู้สึกโกรธมาก จนถึงขั้นหยุดลงทุนไปเป็นเดือน”
ทางด้านคุณ ยุพา สเว็ดลันด์ หรือ ตั๊กกี้ หญิงไทยอายุ 28 ปี หนึ่งในนักลงทุนหน้าใหม่ที่เริ่มการซื้อขายหุ้นครั้งแรกในปีที่ผ่านมา ความคิดเดิมของคุณยุพามองว่า การลงทุนในตลาดหุ้นเป็นเรื่องไกลตัว ยากเกินไป และเป็นพื้นที่หารายได้เฉพาะผู้มีอันจะกินเท่านั้น ก่อนที่เธอจะพบว่าสิ่งนี้อาจจะเป็นวิธีที่ดีกว่ารอดอกเบี้ยจากธนาคาร “ตั๊กกี้อยากจะฝากเงิน แต่รู้สึกว่าการฝากเงินที่ธนาคารมันไม่ได้ดอกเบี้ยเท่าที่เราอยากจะได้ แต่ถ้าพอเรามาเล่นหุ้น เราจะได้เพิ่มมากกว่า”
การตัดสินใจลงทุนในเรื่องที่ไม่คุ้นเคย เป็นสิ่งที่คนใกล้ตัวอย่างสามีของคุณยุพา มองว่ามีความเสี่ยงที่มากเกินไป “ตอนแรกๆที่เราบอกว่าอยากจะเล่นหุ้น สามีไม่เห็นด้วยมากๆ...เงินเก็บช่วงนี้เราก็ยังไม่มีเลย แล้วทำไมต้องไปลงเล่น แต่ในความคิดของเรา ตั๊กกี้มองเห็นโอกาสในการเล่นหุ้นว่า ถ้าเรามีโอกาสในช่วงนี้ แล้วหลายๆคนที่เขาเติบโตจากการเล่นหุ้นเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว เขายังได้เงินกลับมาเลย เรารู้สึกว่าถ้าเรามีโอกาสที่จะเอาเงินส่วนเล็กๆน้อยๆไปลงหุ้นดู ทำไมเราจะทำไม่ได้” คุณยุพาเล่าให้ฟังต่อด้วยอารมณ์ขันว่า ทุกวันนี้สามีของเธอเริ่มเห็นด้วยกับการลงทุน และช่วยเธอหาข้อมูลในการซื้อขายหุ้น
เงื่อนไขหนึ่งที่นักลงทุนรุ่นใหม่ต่างมีคล้ายๆกัน คือ “เงินตั้งต้นที่จำกัด” แต่ละคนใช้เทคนิคที่ต่างกัน เพื่อหาเงินลงทุนก้อนแรก อย่างโยชิ เขาเลือกที่จะตัดการใช้เงินในชีวิตประจำวันที่ไม่จำเป็น เช่น การทานนอกบ้าน หรือซื้อกาแฟดื่ม การเก็บออมในวิธีนี้ ช่วยให้เขามีเงินลงทุนประมาณ 15 ดอลลาร์ต่อวันทำงาน หรือ 300 ดอลลาร์ต่อเดือน ส่วนคุณยุพา ใช้เวลาไปกับการทำงานพิเศษเพื่อเพิ่มรายได้ และเลือกที่จะใช้เงินเยียวยาจากรัฐบาล (Stimulus check) มาเป็นทุนตั้งต้นในตลาดหุ้น
“ก่อนที่เราจะไปพูดถึงเรื่องการลงทุน เราควรถอยหลังกลับมา...ในการดำรงชีวิตในประเทศสหรัฐอเมริกา สามสิ่งที่เราควรจะทำคือ หนึ่งคือเราต้องมีรายได้ จะมาจากการทำงานหรือการลงทุนก็ได้ สองเมื่อเรามีรายได้แล้วเราต้องรู้จักการจ่ายภาษีให้ถูกสัดส่วน เรามีมากเราก็จ่ายภาษีมาก เรามีน้อยเราก็จ่ายภาษีน้อย อันที่สาม เราต้องมีการลงทุนให้ถูกต้อง” คุณอดุลย์ หาญวิริยะพันธุ์ ที่ปรึกษาด้านการเงินในนครชิคาโก ที่มีประสบการณ์กว่า 14 ปี ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ต้องมั่นใจว่าเรามีเงินเพียงพอ กับค่าใช้จ่ายพื้นฐานอย่างปัจจัย 4 ทั้งอาหาร ที่อยู่ เสื้อผ้า และค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์ ก่อนที่จะนำเงินไปต่อยอดลงทุนเพิ่มเติม
นอกจากนี้คุณอดุลย์ ยังเปิดถึงเผยสองกลยุทธ์ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงด้านการลงทุน วิธีแรกคือการกระจายความเสี่ยง (Diversification) และอีกวิธีที่สำคัญ คือการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน (Dollar-Cost-Averaging หรือ DCA)
“Dollar-Cost-Averaging ก็สำคัญมาก เพราะว่าเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า หุ้นจะขึ้นเมื่อไหร่ ลงเมื่อไหร่ ขึ้นเท่าไหร่ ลงเท่าไหร่ เราไม่สามารถคาดการณ์ช่วงเวลาของตลาดได้เลย”
“ประสบการณ์” คืออีกสิ่งที่นักลงทุนรุ่นใหม่มีไม่มากพอ ในความคิดของคุณอดุลย์ การลงเงินผ่านกองทุนจะช่วยลดความเสี่ยงในมิตินี้ “สำหรับคนที่เริ่มเล่นใหม่ๆ ผมแนะนำว่าควรจะเล่น Mutual Fund เพราะว่าเราไม่ใช่อาชีพนี้ เราฟังข่าวโน่นนี่มา แล้วก็เชื่อตามเพื่อน เรายังขาดประสบการณ์”
Mutual Fund หรือกองทุนรวม คือการรวบรวมเงินของนักลงทุน มาลงทุนตามนโยบายของกองทุนนั้นๆ
“ความรู้ที่ถูกต้อง” คือสิ่งที่จะช่วยให้นักลงทุน สามารถสร้างกำไรได้ โยชิ บอกกับ VOA ไทย ถึงแหล่งความรู้ ที่เขาศึกษา จนนำมาใช้ปฏิบัติ “ทุกอย่างที่ผมรู้มา เกือบทั้งหมดมาจากการเรียนด้วยตนเอง” การใช้ Google ค้นหาบทความที่น่าสนใจ อ่านหนังสือการลงทุนที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่าง Twitter และแอพลิเคชั่นห้องสนทนาอย่าง Discord เพื่อติดตามข่าวสารและเข้าถึงบุคคลที่อยู่ในแวดวงการลงทุน
“ผมจะติดตามคนที่เป็นเก่ง เป็นผู้เชี่ยวชาญ บางทีผมอ่านอะไรมาแล้วไม่เข้าใจ ก็จะถามคนเหล่านี้ ผมเองยังเป็นแค่นักลงทุนสมัครเล่น” โยชิเผยว่าหลายครั้งที่เขาส่งคำถามผ่าน Twitter ก็จะได้รับคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรง และสิ่งนี้ช่วยให้เขาพัฒนาทักษะการลงทุนได้อย่างมาก
ในเส้นทางของนักลงทุน ไม่มีคำว่าแน่นอน ความสัมพันธ์ของผลตอบแทนผูกมัดกับความเสี่ยง สิ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงได้ วิธีหนึ่งคือการเข้าหาผู้เชี่ยวชาญ และอีกสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การหาความรู้ที่ถูกต้อง ทั้งหมดนี้จะช่วยให้ “นักลงทุนรุ่นใหม่” ก้าวข้ามไปสู่การเป็น “นักลงทุนมืออาชีพ”