ลิ้งค์เชื่อมต่อ

แฟชั่น ‘อัพไซเคิล’ ชุบชีวิตเสื้อผ้ามือสองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม


กระบวนการผลิตแฟชั่น "อัพไซเคิล" โดยดีไซเนอร์รุ่นใหม่ โจนัส คิง
กระบวนการผลิตแฟชั่น "อัพไซเคิล" โดยดีไซเนอร์รุ่นใหม่ โจนัส คิง

กระแสอัพไซเคิล (Upcycle) ที่มุ่งเน้นการกำจัดของเหลือจากการบริโภคและอุปโภคของคนเรากำลังเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมและมีผู้นำมาปรับใช้กันมากขึ้น แม้กระทั่งวงการแฟชั่นที่เน้นการผลิตสินค้าใหม่ ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง

และโจนัส คิง จากย่านบรูคลิน รัฐนิวยอร์ก คือหนึ่งในกลุ่มนักออกแบบรุ่นใหม่ที่มุ่งเน้นในเรื่องของการชุบชีวิตใหม่ให้กับเสื้อผ้าและสิ่งทอมือสอง โดยนำมาดัดแปลงเป็นของใช้ใหม่ตามที่ลูกค้าสั่ง

สิ่งที่คิงมุ่งมั่นที่จะทำมาเสมอคือ การนำเสื้อผ้าที่ใช้แล้วมาตัดเย็บใหม่ ย้อมสีใหม่ ดัดแปลงและทำให้เป็นของใหม่ที่มีมูลค่า โดยผลงานที่เขาผลิตออกมามีลักษณะของเป็นการนำเอาเศษผ้าหลากสี หลายลวดลาย และเนื้อผ้าที่แตกต่างมาเย็บปะติดปะต่อกันจนเป็นชิ้นงาน

ทั้งหมดนี้ ทำให้เราสามารถเรียกคิงว่าเป็นนักออกแบบแนวอัพไซเคิล ซึ่งเป็นเทรนด์ล่าสุดในเรื่องของการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่แสดงให้เห็นว่า เราสามารถนำของเก่ามาชุบชีวิตใหม่ได้

โจนัส คิง ดีไซเนอร์แนวอัพไซเคิล
โจนัส คิง ดีไซเนอร์แนวอัพไซเคิล

นักออกแบบหนุ่มรายนี้บอกกับ วีโอเอ ว่า มนุษย์นั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่สรรหาทำมากเกินไปจนตอนนี้ โลกของเรามีเสื้อผ้ามากมายพอที่จะใส่กันไปจนชั่วลูกชั่วหลานถึงอีกหกรุ่น ขณะที่ คนทั่วโลกก็ไม่ได้มีเสื้อผ้าใช้อย่างเท่าเทียมกันทั่วโลก เพราะอาจกล่าวได้ว่า เสื้อทั้งหมดที่ว่านั้นอยู่ในมือของผู้บริโภคในประเทศตะวันตกทั้งสิ้น

คิงเล่าต่อไปว่า ตอนที่เขาเรียนหนังสืออยู่ เขาตกหลุมรักในเรื่อง "slow fashion" ซึ่งเป็นแฟชั่นแบบยั่งยืนประเภทหนึ่งที่คำนึงถึงผลกระทบของการผลิตเครื่องแต่งกายที่มีต่อผู้คน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม

ประเด็นนี้ได้สร้างแรงบันดาลใจให้คิง ให้เริ่มต้นด้วยการออกแบบตัดเย็บเสื้อฮู้ดหรือเสื้อที่มีหมวกเย็บติด และต่อมาได้เข้าร่วมการแข่งขันสำหรับนักออกแบบรุ่นใหม่ นอกจากนี้ เขายังเป็นอาสาสมัครในงานแฟชั่นโชว์สำหรับเด็กชื่อดังอย่าง KidSuper และได้รับจักรเย็บผ้าคันแรกในชีวิตของเขาเป็นของขวัญอีกด้วย

โจนัส คิง ดีไซเนอร์แนวอัพไซเคิล กับ จักรเย็บผ้าเครื่องแรกในชีวิต
โจนัส คิง ดีไซเนอร์แนวอัพไซเคิล กับ จักรเย็บผ้าเครื่องแรกในชีวิต

คิงกล่าวว่า จักรดังกล่าวเป็นจักรเย็บผ้างานหนักยี่ห้อซิงเกอร์ และมีสติกเกอร์ของโครงการ KidSuper Show ซึ่งมีชื่อรายการว่า Assembly Line ที่นำเสื้อผ้าที่ผู้คนบริจาคมาจากทั่วโลกมาดัดแปลงให้สวยงามขึ้น ติดอยู่ที่ตัวจักรที่เขาภูมิใจไม่น้อย

คิงเข้าเรียนที่สถาบัน Fashion Institute of Technology ในนครนิวยอร์ก และอาศัยอยู่กับเพื่อน ๆ ศิลปินและนักดนตรีที่บรูคลิน โดยวัสดุที่เขาใช้นั้นได้มาจากเพื่อน ๆ บ้างแต่ส่วนใหญ่แล้วมาจาก FabScrap หรือองค์กรที่ทำงานด้านการรีไซเคิลเสื้อผ้าในนครนิวยอร์ค

พนักงานของ FabScrap คัดเลือกเสื้อผ้าและเศษผ้าที่ถูกทิ้งเพื่อนำมาทำเป็นวัสดุสำหรับการตัดเย็บใหม่
พนักงานของ FabScrap คัดเลือกเสื้อผ้าและเศษผ้าที่ถูกทิ้งเพื่อนำมาทำเป็นวัสดุสำหรับการตัดเย็บใหม่

เจซสิกา ชไรเบอร์ ผู้ก่อตั้ง FabScrap กล่าวว่า ทางองค์กรรวมรวมผ้ามาได้ถึงราว 3.5 ตันในแต่ละสัปดาห์เลยทีเดียว

เจซสิกา ชไรเบอร์ ผู้ก่อตั้ง FabScrap องค์กรที่ทำงานด้านการรีไซเคิลผ้า ในนครนิวยอร์ก
เจซสิกา ชไรเบอร์ ผู้ก่อตั้ง FabScrap องค์กรที่ทำงานด้านการรีไซเคิลผ้า ในนครนิวยอร์ก

ชไรเบอร์กล่าวว่า หลังจากที่คัดแยกผ้าแล้ว ก็จะนำส่วนที่เป็นเศษผ้าไปเข้าเครื่องบด จากนั้นก็จะได้สิ่งที่เรียกว่า Shoddy หรือเส้นใยจากผ้าที่ใช้แล้วซึ่งผู้คนใช้ในการยัดไส้หมอน ม้านั่งแบบนุ่ม และตุ๊กตาสัตว์ต่าง ๆ เป็นต้น

ในส่วนของ โจนัส คิง นักออกแบบหนุ่ม แนวคิดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไม่ได้เน้นเฉพาะการนำของเก่ามาชุบชีวิตใหม่เท่านั้น แต่เขายังปรับใช้เรื่องแนวคิดรักษ์โลกหรือแนวคิดสีเขียวมาใช้ในการทำงานแบบตรงตามตัวอักษรด้วย กล่าวคือ การออกแบบเสื้อผ้าสีเขียวที่ย้อมสีด้วยดอกไม้และใบต้นไอวี่นั่นเอง

โจนัส คิง ดีไซเนอร์ด้านอัพไซเคิล ขณะออกมาเก็บใบไอวี่เพื่อนำไปย้อมผ้า
โจนัส คิง ดีไซเนอร์ด้านอัพไซเคิล ขณะออกมาเก็บใบไอวี่เพื่อนำไปย้อมผ้า

คิงสาธิตวิธีเด็ดใบไม้ดังกล่าวให้ผู้สื่อข่าว วีโอเอ ดู พร้อมอธิบายว่า เขาใช้ใบไม้ที่กำลังจะหลุดจากต้นอยู่แล้ว ซึ่งมีอยู่มากมาย และให้เฉดสีเขียวที่เข้มกว่าเพราะมีเม็ดสีจำนวนมากอยู่ในนั้น แต่เขาพยายามที่จะไม่เด็ดลำต้นของมัน ซึ่งเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างจะลำบาก

ในขั้นต่อไป เขาวางแผนที่จะลองใช้สีของดอกแดนดิไลออน (Dandelion) และดอกทานตะวันกับเสื้อผ้าของเขา เพื่อให้ได้เสื้อผ้าที่เป็นสีเอิร์ธโทน

สำหรับผู้ที่สนใจผลงานของ คิง นักออกแบบจากบรูคลิน นิวยอร์ค ก็สามารถลองหาเสื้อ กางเกง และกระเป๋าที่เขาออกแบบภายใต้แนวคิดอัพไซเคิลนี้ดูได้ที่เว็บไซต์ของเขาที่ใช้ชื่อว่า 2fifty

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG