องค์การสหประชาชาติเปิดเผยว่า ปัจจุบันประชากรโลกจำนวนมากต้องอพยพออกจากภูมิลำเนาเดิมของตนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความขัดแย้งและการถูกกดขี่ ปัญหาเหล่านี้และปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ น่าจะยิ่งทำให้คนจำนวนเพิ่มขึ้นกลายเป็นผู้อพยพลี้ภัยในอนาคต
จงอาน เกดินิ-วิเลียมส์ โฆษกของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) กล่าวว่า จำนวนผู้ที่ต้องอพยพออกจากถิ่นฐานของตนมีจำนวนมากกว่า 70 ล้านคน ในจำนวนดังกล่าวเป็นผู้ลี้ภัย 25 ล้านคน
สหประชาชาติพบว่า การอพยพมีเพิ่มมากขึ้นในประเทศซีเรียและเวเนซุเอลา
เธอกล่าวด้วยว่า เมื่อปีที่แล้วจำนวนผู้ลี้ภัยที่เดินทางกลับประเทศบ้านเกิดลดลง เนื่องจากสถานการณ์ที่ประเทศบ้านเกิดยังคงไม่เอื้ออำนวย และปีที่แล้ว เป็นปีที่สองติดต่อกันที่ประชากรจากซีเรีย อัฟกานิสถาน ซูดานใต้ โซมาเลีย และชาวโรฮีนจา เป็นกลุ่มผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุด
ผู้สันทัดกรณีเตือนว่า ปัญหาภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงผิดธรรมชาติ จะกลายมาเป็นปัจจัยอันดับต้น ๆ ที่ทำให้ประชากรโลกย้ายถิ่นฐาน
โฆษกของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า ในปัจจุบันภัยธรรมชาติก่อให้เกิดการย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่ของประชากรในหลายประเทศ เช่น ซูดานใต้ และโซมาเลีย
จงอาน เกดินิ-วิเลียมส์ ระบุว่า ไม่ใช่เพียงเพราะว่าความยากจนที่ทำให้ประชาชนไม่มีพื้นที่เกษตรเพื่อการเลี้ยงชีพเท่านั้น แต่กลุ่มที่มีกองทหารในพื้นที่แห้งแล้งยังใช้การเข้าถึงแหล่งน้ำเป็นเครื่องมือควบคุมประชากรอีกด้วย
ประเด็นปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การที่ประเทศพัฒนาแล้วต้องส่งผู้ลี้ภัยกลับเป็นเทศต้นกำเนิด
บิล เฟรลิค แห่งโครงการเพื่อสิทธิผู้ลี้ภัย ของหน่วยงาน Human Rights Watch กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดจากการขาดการสนับสนุนทางการเงินและการช่วยผู้ลี้ภัยตั้งถิ่นฐาน ซึ่งเห็นได้ในหลายประเทศในสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และประเทศร่ำรวยอื่น ๆ ที่ต่อต้านการรับผู้ลี้ภัย
เจ้าหน้าที่ Human Rights Watch ผู้นี้กล่าวว่า นโยบาย “ป้องปราม” การหลั่งไหลของผู้อพยพ ถือเป็นสัญญาณที่ส่งไปสู่ประเทศหน้าด่าน เช่น ตุรกี ที่มีชายแดนติดกับดินแดนของผู้ลี้ภัย
สัญญาณจากประเทศร่ำรวยทำให้ประเทศหน้าด่านเหล่านั้นต้านการข้ามเขตแดนออกจากภูมิลำเนาเดิมของผู้ลี้ภัยตั้งแต่แรก
ส่วนโฆษกของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยฯ ระบุว่า สภาพการณ์ปัจจุบันถือว่ายากลำบากมากต่อผู้ลี้ภัย ซึ่งการป้องปรามเห็นได้จากวาทะที่แสดงการไม่ต้อนรับอย่างรุนแรง
เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ที่กระประชุม Global Refugee Forum ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประเทศต่าง ๆ รวมถึงองค์กรข้ามชาติและภาคธุรกิจ แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันกว่า 770 ฉบับที่จะร่วมแก้ปัญหาผู้ลี้ภัย แม้การให้คำมั่นอาจไม่มีผลผูกพัน แต่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ หวังว่าจะเกิดความตื่นตัวมากขึ้นในประเทศต่าง ๆ
ทั้งนี้ ปัจจุบันรัฐบาลหลายประเทศย้ำถึงความสำคัญของการดูแลประชากรในประเทศตนก่อน ในกรณีดังกล่าว บิล เฟรลิค เห็นถึงการขาดความเห็นใจ และการที่นักการเมืองไม่สามารถจัดการกับการเหยียดสีผิว และความเกลียดและกลัวคนต่างชาติ รวมถึงการมองชาวมุสลิมด้วยอคติและความกลัว
เขากล่าวว่า สิทธิการหลีกหนีภัยอันตราย และสิทธิการขอเป็นผู้ลี้ภัย ถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นท้ายสุดที่บุคคลพึงมี นั่นหมายถึงเหตุการณ์ที่กระบวนการต่าง ๆ ล้มเหลวอย่างไม่เหลือที่พึ่ง และคนเหล่านี้ต้องเผชิญหน้ากับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ในเวลาที่ความเป็นและความตายแขวนอยู่บนเส้นด้าย