วิกฤตการณ์การเงินโลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดผลกระทบใหญ่หลวงต่อการหลั่งไหลย้ายถิ่นฐานของประชากรทั่วโลก รายงานการศึกษาชิ้นใหม่ขององค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาระหว่างประเทศหรือ OECD ชี้ให้เห็นว่าอัตราการอพยพย้ายถิ่นทั่วโลกลดลงราว 7% เมื่อปี พ.ศ. 2552 และมีแนวโน้มลดลงอีกเมื่อปีที่แล้ว
คุณ Angel Gurria เลขาธิการใหญ่ของ OECD กล่าวถึงรายงานการค้นพบครั้งนี้ในการประชุมแถลงข่าวที่กรุงบรัสเซลล์ โดยบอกว่าแนวโน้มการอพยพย้ายถิ่นของประชากรโลกกำลังมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ ขณะนี้ประเทศต่างๆพยายามเร่งฟื้นฟูการจ้างงานในประเทศ พร้อมกับสร้างเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง สะอาดและเท่าเทียมมากกว่าเดิม จึงจำเป็นต้องวิเคราะห์การอพยพย้ายถิ่นฐานของประชากรโลกเสียใหม่
คุณ Angel Gurria ระบุว่าอัตราการย้ายถิ่นแบบชั่วคราวทั่วโลกลดลง 17% เมื่อปี พ.ศ. 2552 และการหลั่งไหลของประชากรจากอเมริกาใต้ไปยังสหรัฐก็ลดลงเช่นกัน แต่ในขณะเดียวกันจำนวนผู้อพยพย้ายถิ่นแบบถูกกฎหมายในหลายประเทศรวมทั้งในแคนาดา สหรัฐและออสเตรเลียกลับมีตัวเลขเพิ่มขึ้น
รายงานของ OECD ชิ้นนี้ยังบอกด้วยว่าราวครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้อพยพย้ายถิ่นข้ามประเทศเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา โดยชาวจีนและชาวอินเดียคือกลุ่มที่อพยพไปยังประเทศอื่นๆมากที่สุด นอกจากนี้เหตุการณ์ความวุ่นวายในกลุ่มประเทศอาหรับยังส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการอพยพย้ายถิ่นทั่วโลกเช่นกัน
เลขาธิการใหญ่ของ OECD กล่าวว่าเหตุการณ์ความวุ่นวายในประเทศแถบตะวันออกกลางและอาฟริกาตอนเหนือในช่วงไม่กี่เดือนที่เรียกว่า Arab Spring ได้ทำให้เกิดการหลั่งไหลของประชากรเข้าไปในยุโรปได้แก่อิตาลีและฝรั่งเศส รวมทั้งกระจายกันอยู่ในประเทศอื่นๆในอาฟริกา
บางประเทศในยุโรปได้เรียกร้องให้มีมาตรการควบคุมคนเข้าเมืองที่รัดกุมยิ่งขึ้น ในขณะที่คณะกรรมการสหภาพยุโรปแจ้งว่าพร้อมยื่นมือให้ความช่วยเหลือผู้ประสบความเดือดร้อนจากความวุ่นวายทางการเมืองดังกล่าว โดยเฉพาะผู้อพยพย้ายถิ่นวัยหนุ่มสาวที่กำลังเผชิญปัญหาการว่างงานในประเทศแถบตะวันออกกลางและอาฟริกาตอนเหนือเหล่านั้น