ลิ้งค์เชื่อมต่อ

WHO จำเป็นต้องมี “สนธิสัญญาโรคระบาดใหญ่” ฉบับใหม่หรือไม่?


HEALTH-CORONAVIRUS/WHO
HEALTH-CORONAVIRUS/WHO

ในเวลานี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) กำลังเดินหน้าจัดให้มีการเจรจาหารือเกี่ยวกับกฎเกณฑ์และข้อกำหนดใหม่เพื่อช่วยนานาประเทศและองค์การเข้าจัดการและรับมือกับภาวการณ์ระบาดใหญ่เป็นวงกว้าง (pandemic) อยู่ โดยหน่วยงานด้านสุขภาพแห่งนนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้กำหนดวันที่ประเทศสมาชิกทั้ง 194 ประเทศจะบรรลุข้อตกลงที่มีเป้าหมายที่จะพัฒนากฎเกณฑ์ต่างๆ ในการรับมือกับโรคติดเชื้อที่ส่งผลกระทบต่อทั่วโลก ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนพฤษภาคม ปี 2024

ทั้งนี้ ข้อตกลงใหม่เป็นหนึ่งในคำแนะนำมากกว่า 200 ข้อเพื่อการปรับปรุงพัฒนาวิธีการป้องกันโรคติดเชื้อชนิดใหม่ๆ โดยข้อแนะนำดังกล่าวถูกจัดทำขึ้นในระหว่างมีการศึกษาเกี่ยวกับการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 6.2 ล้านคนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

กลุ่มที่ปรึกษาอิสระกลุ่มหนึ่งอธิบายว่า WHO ดูเหมือนจะ “อ่อนปวกเปียก-ไร้ประสิทธิภาพ” เมื่อโควิด-19 ปรากฏขึ้น เนื่องจากทางหน่วยงานมีขีดความสามารถจำกัดในการตรวจสอบการแพร่ระบาดและจัดมาตรการเพื่อจำกัดการแพร่ระบาดของโรคนี้

อาจเป็นเพราะเหตุผลนี้ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แจเน็ต เยลเลน (Janet Yellen) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ จึงเรียกร้องให้กลุ่มประเทศ G20 จัดตั้งกองทุนขึ้นที่ธนาคารโลก เพื่อช่วยป้องกันการระบาดใหญ่ทั่วโลก

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกมีกฎเกณฑ์ที่เรียกว่า “ข้อบังคับด้านสุขภาพระหว่างประเทศ” ซึ่งได้รับการปรับปรุงครั้งล่าสุดเมื่อปี ค.ศ. 2005 โดยกฎชุดดังกล่าวได้กำหนดความรับผิดชอบของประเทศต่างๆ หากเกิดเหตุการณ์ด้านสาธารณสุขข้ามพรมแดนขึ้นมา โดยข้อกำหนดต่างๆ นี้ ยังมีผลบังคับใช้พร้อมอำนาจของกฎหมายระหว่างประเทศด้วย โดยหนึ่งในกฎที่ว่านั้นรวมความถึง การให้คำปรึกษาแก่องค์การอนามัยโลกในทันทีที่เกิดกรณีภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการเดินทางต่างๆ

เนื้อหาของกฎเกณฑ์ดังกล่าวมีการอัพเดทปรับปรุงเพิ่มขึ้น หลังเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสซาร์ส (SARS) ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2002 และ 2003 โดยกฎระเบียบเหล่านี้ยังถือว่า ใช้ได้สำหรับโรคระบาดในระดับภูมิภาค เช่น ไวรัสอีโบลา แต่ยังไม่เพียงพอสำหรับการระบาดใหญ่ทั่วโลกอย่างเช่น โควิด-19

ในส่วนของข้อตกลงใหม่ที่ WHO เป็นเจ้าภาพให้มีการหารือกันนั้น มีข้อเสนอแนะใหม่ๆ มากมาย อาทิ การแบ่งปันข้อมูลและการจัดลำดับจีโนมของไวรัส รวมทั้ง กฎว่าด้วยการจัดหาวัคซีนอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกันด้วย

เจ้าหน้าที่สหภาพยุโรปรายหนึ่งบอกกับรอยเตอร์ว่า สหภาพยุโรป (EU) กำลังพยายามผลักดันให้มีการสั่งห้ามการเปิดตลาดค้าสัตว์ป่า และต้องการให้มีการดำเนินนโยบายให้รางวัลจูงใจแก่ผู้ที่รายงานเกี่ยวกับเชื้อไวรัสใหม่ๆ หรือเชื้อสายพันธุ์ใหม่ๆ อีกด้วย

ประเทศสมาชิก WHO จะมีเวลาจนถึงเดือนสิงหาคมในการตัดสินใจเกี่ยวกับเนื้อความของร่างข้อตกลงกฎเกณฑ์ใหม่นี้ ซึ่ง เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส (Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกคนปัจจุบันและน่าจะได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่อในสมัยที่ 2 ในเดือนพฤษภาคม ให้การสนับสนุนอยู่

ทั้งนี้ ข้อกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับสถานการณ์ระบาดเป็นวงกว้างนี้ เป็นข้อตกลงด้านสาธารณสุขสำคัญฉบับที่ 2 ที่ WHO ผลักดันออกมา หลังจากประสบความสำเร็จในการประกาศใช้กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบปี ค.ศ. 2003 ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย และมีจุดมุ่งหมายในการส่งเสริมการลดการสูบบุหรี่ผ่านการเก็บภาษี และกฎระเบียบเกี่ยวกับการติดฉลากและการโฆษณา

สำหรับข้อกำหนดที่ EU เสนอให้เป็นไปในรูปของสนธิสัญญาฉบับใหม่และออกตัวเป็นผู้สนับสนุนหลักนี้ ยังได้แรงหนุนจากอังกฤษ อินโดนีเซีย เคนยา และอีกหลายประเทศแล้ว ขณะที่ สหรัฐฯ ตกลงจะเข้าร่วมการเจรจาหารือ แต่แสดงจุดยืนคัดค้านการทำให้สนธิสัญญานี้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายระหว่างประเทศ เช่นเดียวกับ อินเดียและบราซิล ที่ต่างแสดงความกังวลในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

และเพราะ WHO มีจำนวนสมาชิกมากกว่า 190 ประเทศ การที่จะทำให้ข้อตกลงใหม่นี้ผ่านออกมาใช้งานได้จริงจึงเป็นเรื่องที่ยากไม่น้อย

และเมื่อพูดถึงการบังคับใช้สนธิสัญญานี้ ยังไม่ชัดเจนว่า ประเด็นอำนาจกฎหมายของข้อตกลงนี้จะเป็นไปอย่างไร โดยต้องรอให้มีการหยิบยกขึ้นมาหารือกันก่อน

ตามปกติ WHO มีคำเรียกพิเศษสำหรับข้อตกลงต่างๆ ที่ตนผลักดันออกมา ทางองค์การมักเรียกว่าเป็น “เครื่องมือ” ซึ่งอาจเป็น “คำแนะนำ” หรือ “กฎเกณฑ์” หรือ “อนุสัญญา” โดยมีเพียง “กฎเกณฑ์” เท่านั้นที่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายได้ หากไม่มีสมาชิกออกมาคัดค้าน

ดังนั้น ในเวลานี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่า กฎเกณฑ์ที่อัพเดทเมื่อปี ค.ศ. 2005 และสนธิสัญญาด้านภาวะระบาดใหญ่ฉบับใหม่นี้ จะมีความสอดคล้องกันหรือไม่ อย่างไร แต่ข้อแนะนำประการหนึ่งที่มีผู้เสนอมา คือ ควรนำข้อตกลงทั้งสองฉบับมาใช้งานร่วมกัน โดยให้กฎเกณฑ์ที่ใช้งานอยู่นี้เป็นส่วนที่ใช้กับสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่ ส่วนสนธิสัญญาฉบับใหม่นั้นจะมีผลบังคับใช้ ก็ต่อเมื่อ WHO ประกาศว่า มีภาวการณ์ระบาดใหญ่เป็นวงกว้างขึ้นมาแล้วเท่านั้น

นอกจากนั้น ยังคงต้องดูกันต่อไปว่า ผู้ร่วมเจรจาจะตกลงให้มีการเพิ่มมาตรการต่างๆ เช่น การลงโทษคว่ำบาตร ในสนธิสัญญาฉบับใหม่นี้ด้วยหรือไม่

  • ที่มา: รอยเตอร์

XS
SM
MD
LG