นาย Jim Yong Kim ประธานธนาคารโลกท้าทายรัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้ลุกขึ้นมาแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ด้วยการส่งเสริมแนวคิดกระจายความมั่งคั่งเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ
แต่เขาเตือนว่าการแก้ปัญหานี้ต้องมีนโยบายใหม่ๆ ออกมาเพื่อช่วยยกฐานะคนจนในประเทศกำลังพัฒนาที่นับเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั่วโลก
นาย Kim อธิบายถึงมาตรการสามขั้นตอนที่จะช่วยลดความไม่เท่าเทียมทางรายได้ลง นั่นก็คือการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโต การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ และการป้องกันไม่ให้คนยากจนลง นาย Kim ชี้ว่ายุทธศาสตร์ที่ว่านี้แตกต่างไปตามแต่ละประเทศ
ประธานธนาคารโลกชี้ว่าประเทศรายได้น้อยอาจจะต้องพยายามเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้สูงขึ้น ส่วนบรรดาประเทศรายได้ปานกลางอาจจะต้องเน้นการพัฒนาเมืองให้ปลอดภัย สะอาดและน่าอยู่อาศัย สำหรับประเทศที่เด็กเล็กส่วนใหญ่ไม่ได้ไปโรงเรียนระดับประถม ก็จำเป็นต้องปรับปรุงระบบการศึกษาพื้นฐานเสียเป็นอย่างแรก
ประธานธนาคารโลกกล่าวในที่ประชุมที่จัดขึ้นที่สถาบัน United States Institute of Peace ในกรุงวอชิงตันเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว
ผลการศึกษาของ OXFAM ชิ้นล่าสุด แสดงว่าอภิมหาเศรษฐีทั่วโลก 85 คนเป็นผู้ครอบครองความมั่งคั่ง เงินทองและทรัพย์สินมากเท่ากับคนยากจนทั่วโลก หรือครึ่งหนึ่งของประชากรโลกทั้งหมด
ประธานธนาคารโลกกล่าวว่า เงินที่ลงทุนไปกับการดูแลด้านสุขภาพทุกหนึ่งดอลล่าร์สหรัฐ จะได้ผลลัพธ์กลับคืนมาถึง 10 เท่าตัว
นาย Kim กล่าวว่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมานี้ โครงการประกันสุขภาพช่วยสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น 24 เปอร์เซ็นต์ในประเทศรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง