ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เวิลด์แบงค์มองทิศทางเศรษฐกิจโลกปีนี้ดีขึ้น แม้กังวลประเด็นหนี้ประเทศกำลังพัฒนา


World Bank President David Malpass attends the Reuters NEXT Newsmaker event in New York City, New York, U.S., December 1, 2022. REUTERS/Andrew Kelly
World Bank President David Malpass attends the Reuters NEXT Newsmaker event in New York City, New York, U.S., December 1, 2022. REUTERS/Andrew Kelly

ประธานธนาคารโลก เดวิด มัลพาสส์ กล่าวในวันจันทร์ว่า ทางธนาคารฯ ได้ปรับขึ้นคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกประจำปี 2023 เล็กน้อยจากระดับ 1.7% ที่ประเมินไว้ในเดือนมกราคม ขึ้นเป็น 2% แต่ชี้ว่า เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงจากปีที่แล้วจะยิ่งทำให้ปัญหาหนี้ของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายหนักหน่วงขึ้น ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์

มัลพาสส์ ระบุระหว่างการแถลงข่าวว่า การปรับขึ้นการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจนี้เกิดขึ้นเนื่องจากการฟื้นตัวของจีนที่ดีขึ้นหลังยุติมาตรการล็อกดาวน์โควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลกนี้มีโอกาสขยายตัวถึง 5.1% ในปีนี้ เทียบกับตัวเลขประเมิน 4.3% ที่ธนาคารโลกระบุไว้ในรายงาน Global Economic Prospects ที่ออกมาในเดือนมกราคม

อย่างไรก็ดี ประธานธนาคารโลกที่กำลังจะหมดวาระลงในเร็ว ๆ นี้เตือนว่า ปัญหาความวุ่นวายในธุรกิจธนาคารและราคาน้ำมันโลกที่พุ่งสูงอาจส่งแรงกดดันหนักให้กับทิศทางการเจริญเติบโตในช่วงครึ่งหลังของปี ค.ศ. 2023 ได้

นอกจากนั้น มัลพาสส์และคริสตาลินา กอร์เกียวา กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แสดงความเห็นร่วมกันว่า ทิศทางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงในระยะกลาง คือ ไม่ถึง 3% สำหรับปีนี้ราว 3% ในช่วง 5 ปีจากนี้ ตามการประเมินของ IMF จะเป็นปัญหาพอควรสำหรับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

ทั้งนี้ IMF จะเปิดเผยรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจฉบับล่าสุดของตนในวันอังคาร

ประธานธนาคารโลกระบุว่า ประเทศหนึ่ง ๆ ต้องมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสูงเพื่อให้มีการสร้างงาน และเพื่อชะลอการเคลื่อนย้ายทางเศรษฐกิจจากประเทศยากจน พร้อมแสดงความกังวลว่า ภาวะเงินทุนไหลออกสุทธิจากประเทศกำลังพัฒนาที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้เป็นสิ่งที่ต้องมีการเร่งแก้ไขให้กลายมาเป็นการไหลเข้าสุทธิ เพื่อให้ระดับดอกเบี้ยของประเทศกลับคืนสู่สภาพปกติ

โดยปกติ การคาดการณ์ของธนาคารโลกจะออกมาต่ำกว่าของ IMF เพราะมีการอ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศด้วย ขณะที่ การคาดการณ์ของ IMF นั้นอ้างอิงจากอัตราแลกเปลี่ยนตามทฤษฎีความเสมอภาคของอำนาจซื้อ (purchasing power parity exchange rate) หรืออัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริง

  • ที่มา: รอยเตอร์
XS
SM
MD
LG