สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ปริมาณการซื้อขายอาวุธทั่วโลกระหว่างปี ค.ศ. 2016 – 2020 อยู่ในระดับคงที่เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001-2005 อ้างอิงจากข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศกรุงสตอกโฮล์ม (SIPRI) ที่เปิดเผยในวันจันทร์
รายงานระบุว่า สหรัฐฯ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ซึ่งเป็นผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่ที่สุดในโลกสามประเทศ มีการส่งออกอาวุธเพิ่มขึ้นในช่วงเวลา 5 ปี คือระหว่างปี ค.ศ. 2016 – 2020 แต่การส่งออกอาวุธของรัสเซียกับจีนกลับลดลงในปริมาณที่พอ ๆ กับมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นของสามประเทศนั้น
SIPRI ชี้ว่า ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ช่วงปีค.ศ. 2001-2005 ที่การส่งออกอาวุธของประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ไม่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยบ่งชี้ว่าความต้องการอาวุธทั่วโลกไม่เพิ่มขึ้นในช่วงห้าปีหลังนี้เช่นกัน
นักวิจัยของ SIPRI เชื่อว่า การระบาดของโควิด-19 และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องจำกัดงบประมาณด้านการทหาร ถึงกระนั้นยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าแนวโน้มนี้จะเกิดขึ้นต่อเนื่องในระยะยาวหรือไม่
อย่างไรก็ตาม SIPRI ระบุว่ายังมีบางประเทศที่มีการสั่งซื้ออาวุธเพิ่มขึ้นในช่วงที่เกิดการระบาดใหญ่ ตัวอย่างเช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่สั่งซื้อเครื่องบินรบเพิ่มจากอเมริกาจำนวน 50 ลำ และโดรนติดอาวุธ 18 ลำ มูลค่า 23,000 ล้านดอลลาร์เมื่อเร็ว ๆ นี้
ขณะที่ซาอุดิอาระเบียซื้ออาวุธเพิ่ม 61% และกาตาร์นำเข้าอาวุธอีก 361% ในช่วงระหว่างปีค.ศ. 2016-2020 ส่งผลให้ภูมิภาคตะวันออกกลางมีการนำเข้าอาวุธเพิ่มขึ้นมากที่สุดในโลกในช่วงเวลาดังกล่าว คือเพิ่มขึ้นถึง 25%
ส่วนเอเชียยังคงเป็นภูมิภาคที่มีสัดส่วนการนำเข้าอาวุธมากที่สุดในโลก คือคิดเป็น 42% ของมูลค่าการซื้ออาวุธทั้งหมดในช่วง 5 ปีหลัง โดยมีอินเดีย ปากีสถาน ออสเตรเลีย จีน และเกาหลีใต้ เป็นผู้นำเข้าอาวุธมากที่สุดในภูมิภาคนี้