สื่อ The Atlantic และ AP รายงานเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศหลังจบการแข่งขันฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลกหรือ Women's World Cup 2015 ที่แคนาดา
รายงานระบุว่าเงินรางวัลที่ทีมแชมป์คือสหรัฐฯ ได้รับมูลค่า 2 ล้านดอลล่าร์นั้น น้อยกว่าเงินที่ทีมตกรอบแรกในฟุตบอลโลกของทีมชายได้รับเสียอีก ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ในเรื่องความเท่าเทียมของรายได้ระหว่างนักกีฬาชาย-หญิง
แต่มีผู้เชี่ยวชาญบางคนบอกว่าเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากผลกำไรที่ FIFA ได้รับจากการแข่งขันฟุตบอลโลกทีมชายนั้นสูงกว่าฟุตบอลโลกหญิงหลายเท่า ขณะที่จำนวนผู้ชมก็สูงกว่าราว 2-3 เท่า
ประเด็นเรื่องความเท่าเทียมยังขยายไปถึงสื่อสังคมออนไลน์อย่างรวดเร็ว หลังจากสมาคมฟุตบอลอังกฤษหรือ FA ได้โพสข้อความลงใน twitter ในทำนองแสดงความยินดีต่อทีมฟุตบอลหญิงอังกฤษที่คว้าอันดับ 3 ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดย FA โพสว่า "วันนี้สิงโตหญิงกำลังเดินทางกลับบ้าน เพื่อกลับไปทำหน้าที่แม่ คู่ครอง และลูกสาว เหมือนที่เคยเป็น รวมทั้งบทบาทใหม่นั่นคือฮีโร่"
ข้อความดังกล่าวจุดกระแสวิจารณ์ในโลกออนไลน์ในประเด็นการแบ่งแยกทางเพศ ทำให้ทาง FA ต้องออกมาขอโทษและแก้ไขข้อความดังกล่าวให้เหลือเพียง "ขอต้อนรับกลับบ้านในฐานะฮีโร่" เท่านั้น
สถิติต่างๆ ที่เกิดจากการแข่งขันนัดชิงชนะเลิศระหว่างทีมชาติสหรัฐฯกับทีมชาติญี่ปุ่นมีมากมาย
- สหรัฐฯ คว้าแชมป์ฟุตบอลโลกหญิงสมัยที่ 3 มากที่สุดในบรรดาทีมหญิง
- กัปตันทีมสหรัฐฯ คาร์ลี่ ลอยด์ ทำแฮตทริกในเวลาเพียง 15 นาทีแรก เร็วที่สุดในรอบชิงชนะเลิศฟุตบอลโลกไม่ว่าทีมชายหรือทีมหญิง
- เป็นแฮตทริกครั้งแรกในรอบชิงชนะเลิศฟุตบอลโลกหญิง
- เป็นประตูที่รวดเร็วที่สุดในรอบชิงชนะเลิศฟุตบอลโลกหญิง คือในนาทีที่ 3
- สกอร์ 5-2 ในรอบชิงชนะเลิศ เป็นจำนวนประตูมากที่สุดในรอบชิงชนะเลิศฟุตบอลโลกหญิง
- จำนวนผู้ชมในสนามทั้งหมด 1 ล้าน 3 แสนคนใน 52 เกม เฉลี่ยนัดละ 26,000 คน
- มีผู้ชมนัดชิงชนะเลิศทางโทรทัศน์ 22.8 ล้านคน มากกว่าคู่ชิงเมื่อ 4 ปีก่อนซึ่งเป็นทีมเดียวกันเกือบ 3 เท่า และถือเป็นตัวเลขสูงสุดเป็นสถิติใหม่ของการแข่งขันฟุตบอลหนึ่งเกมในอเมริกา
รวบรวมและเรียบเรียงโดยทรงพจน์ สุภาผล