ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด กับปัญหา 'ความไม่เท่าเทียมทางเพศ'


ประชากรจากประเทศที่ยากจนที่สุดในเอเชีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง เริ่มได้รับวัคซีนโควิด-19 กันมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่าประชากรหญิงได้รับการฉีดวัคซีนในอัตราที่ต่ำกว่าประชากรชาย

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ผู้หญิงในแอฟริกาอาจเป็นกลุ่มประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนน้อยที่สุดในโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพราะการได้รับข้อมูลที่ผิด ๆ และความไม่เชื่อมั่นในวัคซีน แต่ปัญหาในการรับวัคซีนและความเหลื่อมล้ำดังกล่าวนั้นมีอยู่ตามที่อื่น ๆ นอกเหนือจากแอฟริกาด้วย

อุปสรรคต่าง ๆ ในการฉีดวัคซีนนั้นรวมไปถึงความคิดเห็นทางวัฒนธรรมและการขาดเทคโนโลยี และในบางครั้ง ประชากรหญิงก็ไม่ได้ถูกจัดลำดับความสำคัญในการฉีดวัคซีน นอกจากนี้ข้อมูลเกี่ยวกับอัตราการแจกจ่ายวัคซีนให้แก่สตรียังไม่ทั่วถึงในหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งบรรดาเจ้าหน้าที่ต่างเห็นพ้องว่า ผู้หญิงได้รับการฉีดวัคซีนในอัตราที่น้อยกว่าผู้ชายอย่างชัดเจนในบางพื้นที่

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ปัญหานี้จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข เพื่อให้โลกของเราสามารถเอาชนะการแพร่ระบาดได้

Sarah Hawkes ซึ่งติดตามข้อมูลการระบาดของโคโรนาไวรัสทั่วโลก ที่มหาวิทยาลัย University College London กล่าวว่า การที่ผู้หญิงจะได้ฉีดวัคซีนเร็วกว่าปกติหรือไม่นั้น มักถูกตัดสินโดยการให้วัคซีนเข็มแรกของประเทศนั้น ๆ อย่างเช่น ที่ปากีสถานและประเทศอื่น ๆ ให้วัคซีนเข็มแรกกับกลุ่มต่าง ๆ เช่น ทหารและแรงงานอพยพ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

Sasha Fahme นักวิจัยด้านสุขภาพสตรีที่มหาวิทยาลัย American University ในกรุงเบรุต กล่าวว่า ในเลบานอนและประเทศอื่น ๆ ในตะวันออกกลาง ประชากรหญิงเป็นกลุ่มที่ปลอดภัยจากโควิด-19 ในตอนแรก ๆ เพราะคนเหล่านั้นมีแนวโน้มที่จะปฏิบัติตามแนวทางการเว้นระยะห่างทางสังคมมากกว่า แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผู้หญิงต้องเผชิญกับการเสี่ยงภัยกับไวรัสมากขึ้น เพราะต้องทำงานบ้านและดูแลญาติพี่น้องที่เจ็บป่วย และว่าผู้หญิงมักไม่ค่อยได้รับข้อมูลเกี่ยวกับไวรัส เนื่องจากอ่านหนังสือได้น้อยกว่า

Naima Sadaka คุณแม่ลูกสามวัย 36 ปีที่อยู่ทางใต้ของเลบานอน เธอไม่คิดที่จะฉีดวัคซีนเพราะเชื่อว่ามีข้อพิพาททางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับวัคซีนนี้ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย เธอบอกว่า เนื่องจากมีความขัดแย้งในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงคิดว่าไม่ฉีดจะดีกว่า

ส่วนในบังกลาเทศ การใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มอัตราการฉีดวัคซีนนั้นอาจส่งผลร้ายต่อประชากรหญิง โดยข้อมูลของรัฐบาลบังกลาเทศเมื่อเดือนกันยายน แสดงให้เห็นว่า มีประชากรชาย 8 ล้านคน แต่ประชากรหญิงเพียง 6 ล้านคน ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 2

Ramesh Singh ผู้อำนวยการองค์กร CARE ของบังกลาเทศ ซึ่งได้ทำงานเกี่ยวกับมาตรการต่าง ๆ ของโควิด-19 ในโรงงานสิ่งทอบางแห่งของประเทศ ตั้งข้อสังเกตว่า คนงานส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและโรงงานเหล่านั้นได้เปิดทำการตลอดในช่วงการเกิดโรคระบาดใหญ่ ซึ่งดูเหมือนจะทำให้ผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่สูงขึ้น แต่ไม่ได้รับการคุ้มครองที่เพียงพอ

Singh อธิบายว่า บังกลาเทศเริ่มความพยายามในการฉีดวัคซีนโดยขอให้ผู้คนลงทะเบียนในแอปมือถือ ผู้หญิงที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือจึงไม่สามารถลงทะเบียนได้ และเมื่อมีการลงทะเบียนด้วยวิธีอื่นนอกเหนือจากแอปแล้ว ผู้หญิงบางคนจากพื้นที่ชนบทก็ยังคงต้องเผชิญกับอุปสรรคต่าง ๆ อยู่ดี

เจ้าหน้าที่กล่าวว่า การที่จะฉีดวัคซีนให้แก่ผู้หญิงในประเทศยากจนได้มากขึ้นนั้น อาจขึ้นอยู่กับกลุ่มคนที่มีความสำคัญ อย่างเช่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขหญิง ซึ่งมีอัตราส่วน 70% ของบุคลากรทางการแพทย์ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม การวิจัยพบว่าผู้หญิงไม่เชื่อมั่นในการฉีดวัคซีนในอัตราที่มากกว่าผู้ชาย และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหญิงบางคนก็ยังไม่เชื่อมั่นในวัคซีนเช่นกัน

Chioma Nwakanma แพทย์หญิงที่ทำงานในลากอส ประเทศไนจีเรีย กล่าวว่า เธอรู้สึกเสียใจที่พยาบาลบางคนไม่คิดว่าวัคซีนเป็นสิ่งสำคัญ และถ้าหากตัวเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหญิงยังไม่มั่นใจในวัคซีนแล้ว ผู้หญิงคนอื่น ๆ จะเชื่อมั่นในวัคซีนได้อย่างไร?

  • ที่มา: The Associated Press

XS
SM
MD
LG