รัฐบาลสหรัฐฯ เริ่มสู้คดีในศาลอังกฤษ เพื่อขอให้ส่งตัวนายจูเลียน อัสซานจ์ ผู้ก่อตั้งวิกิลีกส์ (WikiLeaks) กลับมาดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนรัฐบัญญัติการจารกรรม จากการเผยแพร่เอกสารลับของราชการและกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งอ้างว่าส่งผลให้ชีวิตของคนหลายคนต้องตกอยู่ในภาวะเสี่ยงภัย
เจมส์ ลูอิส ทนายตัวแทนรัฐบาลสหรัฐฯ ขึ้นเบิกความในศาลกรุงลอนดอน ในวันจันทร์ตามเวลาท้องถิ่น เพื่ออธิบายต่อศาลถึงเหตุผลที่ควรส่งตัวนายอัสซานจ์กลับสหรัฐฯ โดยระบุว่า การที่วิกิลีกส์เผยแพร่เอกสารของกองทัพและการทูต เป็นการก่อความเสียหายครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ ให้กับการเก็บข้อมูลลับของทางการ
รายงานข่าวแจ้งว่า ผู้สนับสนุนวิกิลีกส์จำนวนหนึ่งรวมตัวกันมาประท้วงหน้าศาลที่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคุ้มกันอย่างแน่นหนา ขณะที่การเบิกความดำเนินอยู่
รัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งฟ้องนายอัสซานจ์ใน 18 ข้อหา ต้องการตัวเขากลับมาเพื่อลงโทษด้วยการจำคุกสูงสุดเป็นเวลา 175 ปี สำหรับการเปิดเผยข้อมูลลับหลายแสนชิ้นต่อสาธารณะในปี ค.ศ. 2010 ซึ่งนายอัสซานจ์แก้ต่างว่า เป็นการทำหน้าที่ของผู้สื่อข่าว ด้วยการทำให้ประชาชนได้รับรู้ถึงการทำความผิดโดยกองทัพสหรัฐฯ และการกระทำดังกล่าวก็ได้รับการปกป้องตามบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 1 แห่งรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ
แต่ นายลูอิสยืนยันว่า สิ่งที่ผู้ก่อตั้งวิกิลีกส์ทำไม่ใช่เรื่องของเสรีภาพในการพูด แต่เป็นอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ และทางการสหรัฐฯ ต้องการลงโทษนายอัสซานจ์สำหรับการทำให้ชีวิตของคนหลายคนในสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรต้องตกอยู่ในอันตราย เพราะการเปิดเผยข้อมูลลับของเขา
เขากล่าวด้วยว่า การกระทำของนายอัสซานจ์ ทำให้สหรัฐฯ ต้องดำเนินการย้ายถิ่นฐานชาวอเมริกันที่ทำให้หน้าที่ป้อนข้อมูลต่างๆ ให้รัฐบาลไปอยู่ที่ๆ ปลอดภัย ขณะที่มีคนหลายคนหายสาบสูญไปแล้ว
องค์กรสื่อมวลชนและกลุ่มสิทธิเสรีภาพพลเมืองต่างๆ ซึ่งรวมถึง องค์กรนิรโทษกรรมสากล และ นักข่าวไร้พรมแดน กล่าวว่า ข้อหาที่สหรัฐฯ ฟ้องนายอัสซานจ์นั้น มีผลกระทบที่น่ากังวลต่อเสรีภาพของสื่อ
อย่างไรก็ดี คดีขอส่งตัวนายอัสซานจ์กลับสหรัฐฯ จะยังคงดำเนินไปอีกระยะกว่าจะถึงจุดสิ้นสุด เพราะขั้นตอนการเบิกความโดยทนายทั้งสองฝ่ายจะเดินหน้าไปถึงเดือนพฤษภาคม ก่อนที่จะมีการนำเสนอหลักฐาน ซึ่งคาดกันว่า ผู้พิพากษาต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนกว่าจะมีคำพิพากษาออกมา และทั้งโจทก์และจำเลยจะทำการอุทธรณ์อย่างแน่นอน