ลิ้งค์เชื่อมต่อ

“ธงอาทิตย์อุทัย” จุดชนวนความขัดแย้งในโอลิมปิก 


Tokyo Olympics South Korea Japan Rising Sun Flag
Tokyo Olympics South Korea Japan Rising Sun Flag

สำหรับชาวญี่ปุ่นนั้น “ธงอาทิตย์อุทัย” เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติ แต่ในสายตาของเกาหลี จีน และประเทศเอเชียอื่นๆ กลับเห็นว่าธงอาทิตย์อุทัยนี้เป็นเครื่องย้ำเตือนถึงความป่าเถื่อนของกองทัพญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เสมือนธงลายสวัสดิกะของนาซีในสายตาชาวตะวันตก

สำนักข่าว The Associated Press รายงานว่า ธงอาทิตย์อุทัยสร้างความไม่พอใจในการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ โดยประเทศเพื่อนบ้านของญี่ปุ่นส่วนหนึ่งเรียกร้องให้มีการแบนธงดังกล่าวระหว่างการแข่งขันที่เริ่มขึ้นในวันศุกร์นี้ โดยผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งระบุว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้ชมไม่สามารถเข้าชมการแข่งขันกีฬาด้วยตนเองได้ ซึ่งอาจช่วยลดการเผชิญหน้าและทำให้ความขัดแย้งไม่รุนแรงไปกว่าเดิม

จุดกำเนิดของธงอาทิตย์อุทัย

ธงของญี่ปุ่นมีสองแบบ โดยต่างชื่อในภาษาญี่ปุ่นที่หมายถึง “จุดกำเนิดของพระอาทิตย์” ธงรูปแบบแรกคือธงชาติญี่ปุ่น ที่มีชื่อภาษาญี่ปุ่นว่า “นิชโชกิ” หรือ “ฮิโนมารุ” เป็นธงรูปวงกลมสีแดงบนพื้นขาว

ส่วนธงรูปแบบที่สอง คือธงอาทิตย์อุทัย หรือธง “เคียวกูจิตสึกิ" เป็นธงรูปวงกลมสีแดงมีรัศมี 16 แฉก ซึ่งธงนี้เองที่จุดชวนให้เกิดการประท้วงในประเทศเพื่อนบ้านญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง


ญี่ปุ่นใช้ธงทั้งสองรูปแบบมานานหลายร้อยปี อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงต้นศตวรรษที่ 20 กองทัพเรือของจักรวรรดิญี่ปุ่นใช้ธงอาทิตย์อุทัยเป็นสัญลักษณ์หลัก ขณะที่ญี่ปุ่นล่าอาณานิคมในแถบคาบสมุทรเกาหลี รวมถึงบุกจีนและประเทศเอเชียอื่นๆ จนกระทั้งญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่สองเมื่อปีค.ศ. 1945

ทุกวันนี้ ธงอาทิตย์อุทัยยังเป็นธงประจำกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลญี่ปุ่น ในขณะที่กองกำลังป้องกันตนเองภาคพื้นดินญี่ปุ่นปรับรูปแบบธงดังกล่าวเล็กน้อย และใช้เป็นธงประจำกองกำลังมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1954

ทุกวันนี้ กลุ่มขวาจัดในญี่ปุ่นมักใช้ธงดังกล่าวในการเดินขบวน หรือใช้ในสื่อสังคมออนไลน์

FILE - In this May 27, 2014 photo, Japan's military flag, the Rising Sun Flag, flutters on the Japan Maritime Self-Defense Force tank landing ship JS Kunisaki anchored in Yokosuka near Tokyo, getting ready for participating in the Pacific Partnership 2014
FILE - In this May 27, 2014 photo, Japan's military flag, the Rising Sun Flag, flutters on the Japan Maritime Self-Defense Force tank landing ship JS Kunisaki anchored in Yokosuka near Tokyo, getting ready for participating in the Pacific Partnership 2014


ปมความขัดแย้งของธง

รัฐบาลญี่ปุ่นย้ำว่า ธงญี่ปุ่นทั้งสองแบบมีพื้นฐานการออกแบบมาจากดวงอาทิตย์ และญี่ปุ่นใช้ธงทั้งสองแบบมานานตั้งแต่ก่อนช่วงสงคราม รัฐบาลญี่ปุ่นอธิบายว่า ทุกวันนี้ ชาวญี่ปุ่นยังคงใช้ธงอาทิตย์อุทัยที่มีรัศมีในชีวิตประจำวัน เช่น ชาวประมงชักธงดังกล่าวฉลองการจับปลาครั้งใหญ่ ครอบครัวใช้ธงฉลองเด็กเกิดใหม่ รวมถึงมีการใช้ธงนี้เพื่อฉลองตามงานรื่นเริงต่างๆ

แม้นายโยชิฮิเดะ ซูกะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น จะเคยอธิบายเมื่อครั้งที่เขาดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อปีค.ศ. 2013 ว่า ธงอาทิตย์อุทัยนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง หรือเป็นสัญลักษณ์ของลัทธิทหารนิยม แต่ประเทศเพื่อนบ้านของญี่ปุ่นกลับมีมุมมองต่อธงนี้ต่างออกไป

เมื่อปีค.ศ. 2019 เกาหลีใต้ทำเรื่องถึงคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ ไอโอซี ให้แบนธงดังกล่าวในการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ โดยให้เหตุผลว่า ธงนี้ย้ำเตือนถึง “แผลเป็นและความเจ็บปวด” ของชาวเอเชียที่เผชิญกับความโหดร้ายของกองทัพญี่ปุ่นในช่วงสงคราม เช่นเดียวกับที่ธงสวัสดิกะย้ำเตือนชาวยุโรปถึง “ฝันร้ายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2”

สื่อทางการเกาหลีเหนือกล่าวหาญี่ปุ่นว่า พยายามทำให้ “ธงของอาชญากรสงคราม” เป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพในการแข่งขันโอลิมปิก โดนระบุว่า การใช้ธงนี้ “เป็นการดูถูกชาวเกาหลีเหนือและชาวเอเชียอื่นๆ อย่างรับไม่ได้”

จีนเป็นอีกประเทศที่มีประเด็นอ่อนไหวกับญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม ทางการจีนได้ลดความตีงเครียดด้านประวัติศาสตร์ต่อญี่ปุ่นลง ขณะที่จีนเพิ่มการแข่งขันกับสหรัฐฯ และประเทศประชาธิปไตยในยุโรป ด้านการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งจีนก็มีประเด็นอ่อนไหวต่อธงดังกล่าวน้อยกว่าเกาหลีใต้

Crew members from the Japanese Maritime Self-Defense force ship Umigiri stand on deck between Japan's Self-Defense Force flag alongside an Australian flag before joint exercises at Garden Island Naval Base in Sydney, April 19, 2016.
Crew members from the Japanese Maritime Self-Defense force ship Umigiri stand on deck between Japan's Self-Defense Force flag alongside an Australian flag before joint exercises at Garden Island Naval Base in Sydney, April 19, 2016.

การใช้ธงในการแข่งขันโอลิมปิก

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เกาหลีใต้ปลดป้ายที่หมู่บ้านนักกีฬาโอลิมปิกในกรุงโตเกียว เนื่องจากไอโอซีเห็นว่า ป้ายดังกล่าวจุดชนวนให้เกิดความขัดแย้ง โดยเกาหลีใต้ระบุว่า ไอโอซีรับปากว่าจะไม่ให้มีการใช้ธงอาทิตย์อุทัยที่สนามกีฬาในการแข่งขันโอลิมปิก

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา สื่อเกาหลีใต้รายงานว่า นักเคลื่อนไหวบางส่วนถือธงอาทิตย์อุทัยใกล้กับหมู่บ้านนักกีฬา ยังมีรายงานด้วยว่า คณะกรรมการจัดการแข่งขันของญี่ปุ่นลงความเห็นให้อนุญาตให้ใช้ธงนี้ในสนามกีฬาโอลิมปิกได้

ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ ทั้งคู่ ตึงเครียดมานานหลายปี โดยส่วนหนึ่งมาจากความขัดแย้งด้านประวัติศาสตร์และการค้า

เมื่อวันจันทร์ ทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้ประกาศว่า ประธานาธิบดีมุน แจ-อิน จะไม่เดินทางเยือนญี่ปุ่นเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิก เนื่องจากทั้งสองประเทศไม่สามารถหาจุดร่วมเพื่อสนับสนุนการประชุมสุดยอดผู้นำได้


สถานการณ์จะเลวร้ายลงหรือไม่?

ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนระบุว่า ความขัดแย้งเรื่องธงนี้ไม่ตึงเครียดเท่าความขัดแย้งเรื่องอื่น เช่น การที่ญี่ปุ่นบังคับใช้แรงงานและบังคัให้เป็นหญิงบำเรอในช่วงสงคราม และไม่น่ากระทบต่อความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศ

อย่างไรก็ตาม ลี มยอน วู รองหัวหน้าสถาบันเซจอง ระบุว่า ความขัดแย้งเรื่องธงก็อาจดำเนินต่อไป หากกลุ่มต่อต้านญี่ปุ่นในเกาหลีใต้แสดงความไม่พอใจต่อไป โดยเขาระบุว่า เกาหลีใต้ควรงด “ตีความทางการเมือง” ต่อธงดังกล่าวมากเกินไป เนื่องจากยังไม่มีสัญญาณว่าญี่ปุ่นจะกลับมาใช้ลัทธิทหารนิยมเหมือนเช่นในอดีตอีก

ทางด้านบอง ยังชิก นักวิจัยของสถาบันเกาหลีเหนือศึกษา มหาวิทยาลัยยอนเซ ระบุว่า ธงดังกล่าวจะไม่ตกเป็นประเด็น หากญี่ปุ่นยอม “ขอโทษอย่างจริงใจ” ต่อพฤติกรรมในช่วงสงครามต่อประเทศเพื่อนบ้านมากกว่านี้

(ที่มา: สำนักข่าว The Assocaited Press)

XS
SM
MD
LG