ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เปิดเหตุผลทำไมคนวัยเริ่มทำงานมีชื่อตำแหน่ง 'อาวุโส' อย่างรวดเร็ว


สื่อ The Wall Street Journal ของสหรัฐฯ เสนอบทความวันที่ 24 เมษายน ที่เกี่ยวกับตำแหน่งงานที่มีคำว่า 'senior' หรือ 'อาวุโส' หลายตำแหน่งที่จริง ๆ แล้วอาจไม่ได้ต้องการคนมีประสบการณ์ทำงานเลยด้วยซ้ำ

บทความกล่าวว่า เมื่อลองเสิร์ชดูจากเว็บไซต์หางาน Indeed พบว่างานที่มีคำว่า 'senior' อยู่ในชื่อตำแหน่ง มีจำนวนกว่า 8,000 แต่ในบางกรณี ผู้สมัครเเทบไม่ต้องเคยทำงานมาก่อน

อันที่จริงการที่บริษัทต่าง ๆ ตั้งชื่อตำแหน่งดูสูงส่งจำนวนมากจนเกิดสิ่งที่เรียกว่า 'ตำแหน่งเฟ้อ' ไม่ใช่เรื่องใหม่ สำหรับงานระดับบริหารกลาง และระดับสูงสุดของแผนกสำคัญ ๆ แต่คำถามคือ 'จำเป็นหรือไม่ที่จะให้คนที่เพิ่งเริ่มชีวิตการทำงานไม่นานมีตำแหน่งระดับอาวุโส?'

เนื่องจากธรรมเนียมปฏิบัติแบบนี้มีอยู่แล้วและช่วยทำให้ผู้รับตำแหน่งรู้สึกดี จึงน่าจะเป็นเหตุผลให้คนสนใจการเปิดจ้างงานตำแหน่งที่มีคำขยายซึ่งเเสดงถึงระดับงานที่สูง

นิค บังเคอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายงานวิจัยเศรษฐกิจของบริษัท Indeed ภูมิภาคอเมริกาเหนือ กล่าวว่ากับ Wall Street Journal ว่า "ถ้าทุกคนที่บริษัทของคุณเริ่มจากตำแหน่ง senior สิ่งนี้จะช่วยให้คุณสามารถหาคนมาทำงานในตำแหน่งนี้เร็วขึ้น" นอกจากนั้นยังอาจทำให้คนรู้สึกมั่นใจมากขึ้นว่าตำแหน่งนี้จะเป็นบันไดสำหรับความก้าวหน้าในอนาคต

อีกเหตุผลหนึ่งที่ช่วยอธิบาย ปรากฏการณ์ 'ตำแหน่งเฟ้อ' คือการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

เดิมทีงานที่มีตำแหน่งพ่วงคำว่า 'อาวุโส' มีสาเหตุจากที่เนื้องานต้องการทักษะขั้นสูง แม้ว่าเจ้าหน้าที่ยังเพิ่งเริ่มทำงาน โดยที่เทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาทำงานเเทนมนุษย์

ทิศทางการตั้งชื่อตำแหน่งงานด้วยคำว่า 'senior' อาจน่าจะได้เเรงหนุนไปอีกในอนาคต เพราะในสัปดาห์นี้หน่วยงานรัฐบาลกลางสหรัฐฯ Federal Trade Commission หรือ FTC ลงมติไม่รับรองการห้ามย้ายงานไปทำองค์กรคู่แข่งหลายกรณี

ทั้งนี้ FTC นิยามตำแหน่ง 'senior executive' คือผู้ที่มีตำแหน่ง 'วางนโยบาย' ที่มีเงินเดือนมากกว่า 151,164 ดอลลาร์ หรือกว่า 5.5 ล้านบาทต่อปี

รองศาสตราจารย์เเดเนียล คิอูม ด้านวิชาบริหารที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กล่าวว่า บริษัทต่าง ๆ มีเเนวโน้มตั้งชื่อตำแหน่งให้ดูยิ่งใหญ่ไว้ก่อนเพื่อให้คนทำงานรู้สึกถึงความก้าวหน้าในอาชีพ แต่เเท้จริงเเล้ว เป็นการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆแบบค่อยเป็นค่อยไป และอาจไม่ได้มาพร้อมกับการขึ้นเงินเดือน

เเนวทางที่ว่านี้มีชื่อเรียกว่า 'dry promotion'

เขากล่าวว่าตำแหน่งงานบางอย่าง หากมองในฐานะคนนอกฟังดูเเล้วไม่ได้มีความหมายอะไรนอกจากทำให้รู้สึกว่าเป็นเพียงเเค่ชื่อ แต่ถ้ามองจากคนในบริษัท ผู้ได้เลื่อนขั้นมาที่ตำแหน่งที่ดูหรู จะรู้สึกดีเมื่อเทียบกับเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ

พอล วูล์ฟ ตำแหน่ง fractional chief people officer หัวหน้าฝ่ายงานด้านบุคคลขององค์กรความหลากหลายทางเพศ Glaad กล่าวว่า ในสายตาลูกค้า เวลาหน่วยงานส่งคนที่มีชื่อตำแหน่งสูงไปพบพวกเขา ลูกค้าจะรู้สึกว่าจะได้รับบริการที่ดี

อย่างไรก็ตาม ต้องเตือนด้วยว่า ถ้าจะส่งใครที่หน้าละอ่อน แต่มีชื่อตำแหน่งสูง บริษัทต้องแน่ใจว่าพนักงานคนนี้จะสามารถทำงานได้ดีตามความคาดหวังด้วย

บทความของ The Wall Street Journal บอกด้วยว่า งานบางอย่างมีชื่อตำแหน่งดูพิเศษ แต่ไม่ต้องการวุฒิการศึกษาที่สูง เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ช่วยโหมกระเเส 'ตำแหน่งเฟ้อ'

ตัวอย่างเช่นพนักงานร้านเสื้อผ้าที่อยู่แผนกคิดเงินหรือวางสินค้าบนชั้น ที่ร้าน Lululemon ถูกเรียกว่า 'educator' หรือผู้ให้ความรู้ เพราะพวกเขาต้องสามารถบอกลูกค้าถึงจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ได้

เหตุผลสุดท้ายที่บทความนี้พูดถึงคือ ตลาดงานเมื่อปีที่เเล้วเป็นช่วงหลังเกิดโควิด-19 และคนที่อยู่ในตำแหน่งฝึกงานจำนวนมากเปลี่ยนมาสู่ตำแหน่งพนักงานเต็มตัวตามขั้นตอนที่วางไว้ ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นต้องประกาศจ้างงานตำแหน่งล่าง ๆ ขององค์กร

สถิติที่ชี้ให้เห็นถึงทิศทางดังกล่าวมากจาก Monster.com ปีที่เเล้วที่การประกาศจ้างงานตำเเหน่งงานเเรกเข้าองค์กร หรือ 'entry level' ลดลง 56% แต่ตำแหน่งที่มีคำระดับ 'senior' และ 'ผู้บริหาร' มีการประกาศรับสมัครคนเพิ่มขึ้น 200% จากปี 2021

ในบรรยากาศการจ้างงานเช่นนี้ วิคกี้ ซาเลมี ผู้เชี่ยวชาญด้านการจ้างงานของ Monster.com กล่าวว่า หากคุณเป็นผู้สมัครงาน เเต่นายจ้างไม่ยอมให้ต่อรองเงินเดือนสูงขึ้นอย่างที่ต้องการ คุณอาจต่อรองให้ชื่อของตำแหน่งดูหรูหรามากขึ้น เป็นรางวัลปลอบใจ

และในสายตาเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล แคลร์ โธมาสเมเยอร์ ของบริษัทด้านวิศวกรรมโยธา Kimley-Horn กล่าวกับ Wall Street Journal ว่าเวลาเธอพิจารณาผู้สมัครเข้ามาทำงาน เธอแทบไม่ได้สนใจชื่อตำแหน่งเลย เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าคือเนื้องานที่อยู่ในประสบการณ์ของผู้สมัคร

  • ที่มา: The Wall Street Journal

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG