ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยปี 2023 อาจดึงแรงงานกลับเข้าออฟฟิศ


FILE PHOTO: People return to work in Philadelphia
FILE PHOTO: People return to work in Philadelphia

ในระหว่างที่การทำงานที่บ้านดูเหมือนจะกลายเป็นสิ่งที่อยู่ถาวรในหลายบริษัทของอเมริกา แต่ปัจจัยจากภาวะเศรษฐกิจที่ส่อแววถดถอยในปี 2023 อาจเป็นแรงขับเคลื่อนให้พนักงานกลับมาตอกบัตรเข้าสำนักงานกันมากขึ้นได้

แม้จะผ่านพ้นช่วงวิกฤตการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่สะเทือนวัฒนธรรมและรูปแบบการทำงานในหลายองค์กรทั้งในอเมริกาและทั่วโลกมาแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ ความต้องการระหว่างนายจ้างและลูกจ้างยังคงมีความแตกต่างกัน เพราะในปี 2022 นายจ้างพยายามเร่งให้พนักงานกลับมาทำงานในออฟฟิศ ขณะที่ฝั่งลูกจ้างยังต้องการการทำงานที่มีความยืดหยุ่น

การทำงานที่ให้พนักงานเข้ามาทำในออฟฟิศ สลับกับทำงานจากที่ไหนก็ได้ ถือเป็นวิธีประนีประนอมที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง แม้ว่าบางบริษัทจะต้องการให้พนักงานกลับมาทำงานแบบเต็มเวลาที่สำนักงาน แต่ลูกจ้างบางส่วนยังคงพยายามที่จะทำงานในรูปแบบผสม

ข้อมูลจากภาครัฐ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานรถไฟใต้ดินที่มหานครนิวยอร์ก ระบุว่า ในช่วงฤดูร้อนของปีนี้ ยอดการเดินทางในย่านธุรกิจมีการปรับเพิ่ม ซึ่งเป็นสิ่งที่ชี้ว่ากลุ่มพนักงานออฟฟิศเดินทางกลับเข้ามาทำงานในสำนักงานมากขึ้น แต่พบว่ายอดการเดินทางคิดเป็นสัดส่วนเพียง ร้อยละ 67 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการระบาดใหญ่เดือนตุลาคม

นอกจากนี้ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา การใช้งานรถไฟใต้ดินในวันหยุดสุดสัปดาห์ พบว่าอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดการระบาดใหญ่ และถือว่ามากกว่าเมื่อเทียบกับการใช้งานในวันธรรมดา ส่วนข้อมูลการใช้งานรถไฟใต้ดินในกรุงลอนดอน พบว่าเพิ่มขึ้นแตะระดับร้อยละ 80 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19

ตามรายงานของ JPMorgan Chase ในเดือนกันยายน พบว่า อสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานทั่วโลกกำลังเปลี่ยนไป สัญญาเช่าถูกปรับให้สั้นลง และการจัดพื้นที่สำนักงานมีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น ในเมืองต่างๆ อย่างเช่น กรุงลอนดอนและมหานครนิวยอร์ก บริษัทต่าง ๆ กำลังลดขนาดลง รวมทั้งยังพยายามขยับไปในพื้นที่ที่ดีขึ้น ส่งผลให้ตึกอาคารเก่า มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบ

ภูมิทัศน์ของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการพนักงานออฟฟิศก็เปลี่ยนไปเช่นกัน ในมหานครนิวยอร์ก แม้ว่าจะมีธุรกิจใหม่ ๆ เปิดกิจการในช่วงปีที่ผ่านมา มากกว่าจำนวนที่ปิดตัวลงไปในช่วงการระบาดใหญ่ แต่สถานที่ตั้งของธุรกิจกลับไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

แคธรีน ไวล์ด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารองค์กร Partnership for New York City กล่าวว่า ในแมนฮัตตันที่เต็มไปด้วยสำนักงาน พบว่ามีจำนวนธุรกิจที่ลดลง ในขณะที่ควีนส์และบรูคลิน ซึ่งเป็นย่านที่อยู่อาศัยของผู้คน กลับมีจำนวนธุรกิจเพิ่มมากขึ้น

FILE PHOTO: A sign advertising office space for lease is seen in Calgary
FILE PHOTO: A sign advertising office space for lease is seen in Calgary

รูปแบบการทำงานสำคัญอย่างไร?

การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานในสำนักงาน อาจส่งผลกระทบต่อจำนวนแรงงาน บางคนที่ออกจากงานในช่วงการระบาดใหญ่ อย่างเช่น ผู้หญิงที่ต้องดูแลคนในครอบครัว คนงานที่อายุมาก รวมถึงผู้ที่ป่วยจากโควิด-19 หากบางส่วนไม่กลับมา อาจส่งผลกระทบต่อการขาดแคลนแรงงาน ที่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและ ภาคส่วนต่าง ๆ มากมาย

รูปแบบการทำงานที่นายจ้างเลือกใช้ จะเป็นตัวกำหนดความน่าสนใจสำหรับพนักงาน โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความยืดหยุ่น รวมถึงความต้องการสมดุลชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวมากขึ้น

แม้ว่าบริษัทอาจจะประหยัดค่าพื้นที่สำนักงาน แต่การทำงานแบบผสมระหว่างออฟฟิศและที่บ้าน อาจมาพร้อมต้นทุนอื่น ๆ เช่น การสูญเสียประสิทธิภาพของการทำงาน ขาดการทำงานร่วมกัน ขาดการให้คำปรึกษาในการทำงาน ส่งผลถึงวัฒนธรรมขององค์กร ส่วนภาคธุรกิจด้านการเงิน ที่ต้องถูกควบคุมตามข้อกำหนดต่าง ๆ การทำงานนอกสำนักงานอาจส่งผลเชิงลบได้

รูปแบบของการทำงานยังอาจตอกย้ำความไม่เท่าเทียมกันของลักษณะงานที่ทำ ซึ่งเห็นได้ชัดในช่วงการระบาดใหญ่ที่ผ่านมา อย่างเช่น กลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นชนกลุ่มน้อย มักถูกมอบหมายให้ทำงานด่านหน้า ที่ไม่สามารถทำงานทางไกลได้ และต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านสุขภาพที่สูงขึ้น โดยที่ผ่านมาไม่มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะงานมากนักสำหรับคนกลุ่มนี้

Work-Life's Second Act
Work-Life's Second Act

อนาคตของการทำงาน?

ตามรายงานของบริษัท Microsoft ในเดือนกันยายนที่ผ่านมาชี้ว่า เมื่อเทียบกับจำนวนเฉลี่ยของผู้ใช้งานโปรแกรม Teams ทั่วโลกตั้งแต่เริ่มเกิดการระบาดใหญ่ พบว่ามีจำนวนการประชุมต่อสัปดาห์เพิ่มขึ้น 153% พนักงานทำงานหลายอย่างระหว่างการประชุม 42% และหัวหน้าจำนวนมากถึง 85% แสดงความไม่มั่นใจว่าพนักงานกำลังทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ในการทำงานรูปแบบผสม

โดยเชื่อว่าในปี 2023 จะเป็นตัวตัดสินว่ารูปแบบการทำงานจะดำเนินไปในทิศทางใด การฟื้นตัวของธุรกิจ อาจมาพร้อมกับแรงงานที่ขาดแคลน ส่งผลให้ลูกจ้างมีอำนาจต่อรองมากขึ้น แต่ก็อาจถูกลดทอนความสำคัญจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยด้วยเช่นกัน

แคธรีน ไวลด์ จากองค์กร Partnership for New York City ให้ทัศนะว่า “คนจะลาออกจากงานไม่ได้ง่าย ๆ การที่ต้องกลับมาทำงานในออฟฟิศอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ จะถูกต่อต้านน้อยลง” โดยเธอเชื่อว่า สิ่งนี้จะเป็นทิศทางที่จะเกิดขึ้น

  • ที่มา: รอยเตอร์
XS
SM
MD
LG