ด็อกเตอร์ เชอเรียน วาร์กีส (Dr. Cherian Varghese) ผู้เชี่ยวชาญแห่งองค์การอนามัยโลกชี้ว่า สองในสามของของประเทศอุตสาหกรรมทั่วโลกมียามอร์ฟินชนิดรับประทานใช้ ซึ่งเป็นยาแก้ปวดโอพิออยด์ที่ใช้กันเเพร่หลายเพื่อลดอาการปวดรุนแรง ยานี้มีขายในร้ายขายยามากกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งหมดในประเทศเหล่านี้ ในขณะที่ ในประเทศกำลังพัฒนา มีร้านขายยาเพียงร้อยละ 6 เท่านั้นที่มียาแก้ปวดชนิดนี้ขายในร้าน
องค์การอนามัยโลกได้ออกข้อเเนะนำใหม่สำหรับแพทย์ทั่วโลกในการรักษาอาการปวดที่กระทบต่อคนไข้มะเร็งราวร้อยละ 55 ของทั้งหมดที่กำลังเข้ารับการบำบัดเเละผู้ป่วยมะเร็งในระยะก้าวหน้าหรือระยะสุดท้าย 2 ใน 3 ของทั้งหมด
ด็อกเตอร์ เอเตียน ครัก (Dr Etienne Krug) ผู้อำนวยการฝ่ายโรคไม่ติดต่อแห่ง WHO กล่าวในงานแถลงข่าวว่าไม่ควรมีคนไข้คนใดหรือผู้ป่วยมะเร็งคนใดที่ต้องทนทรมานจากอาการเจ็บปวดหรือเสียชีวิตจากอาการเจ็บปวดในคริสต์ศตวรรษที่ 21
ในบางส่วนของโลก ยาแก้ปวดเหล่านี้มีอยู่ทั่วไปและถูกใช้เพื่อการเสพติด ความกลัวว่าคนอาจติดยาแก้ปวดเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ไม่ควรกระทบต่อผู้ป่วยที่ทุกข์ทรมานจากอาการเจ็บปวดหรือต้องเสียชีวิตอย่างทรมานด้วยอาการเจ็บปวด
ปัญหาวิกฤติการใช้ยาแก้ปวดประเภทโอพิออยด์เกินขนาดในสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งเกิดจากใช้ยาตามใบสั่งแพทย์เกินขนาด ทำให้คนเสียชีวิตกว่า 49,000 คนเมื่อปีที่เเล้ว สร้างความกลัวว่าการเสพติดยาแก้ปวดนี้จะแพร่ระบาดไปยังประเทศอื่น
ข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกชี้ว่าควรเข้มงวดต่อการใช้ยาแก้ปวดที่เป็นสารที่ก่อให้เกิดอาการเสพติดประเภทมอร์ฟีน รักษาคนไข้ เเต่ชี้ว่ายามอร์ฟีนชนิดกินเป็นยาที่มีความจำเป็นต้องใช้เพื่อบำบัดอาการระดับปานกลางถึงรุนแรงที่เกิดจากโรคมะเร็ง
WHO เปิดเผยในรายงานสำหรับวันมะเร็งแห่งโลกที่ตรงกับวันที่ 4 กุมภาพันธ์ว่ามีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ 18 ล้าน 1 เเสน คนทั่วโลกทุกปีเเละผู้เสียชีวิตจากมะเร็ง 1 ใน 6 ของทั้งหมดหรือราว 9 ล้าน 6 แสนคน
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)