หากคุณตั้งนาฬิกาปลุกแบบเสียงดัง หรือเสียงที่ไม่น่าพึงใจนัก อาจทำให้ยากต่อการสลัดอาการง่วงหงาวหาวนอนในตอนเช้า แต่นักวิจัยกล่าวว่าเสียงนาฬิกาปลุกที่เป็นทำนองเพลง สามารถช่วยให้รู้สึกสดชื่นขึ้นได้หลังจากที่ตื่นนอน
การศึกษานี้ดำเนินการโดยนักวิจัยในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการศึกษาทั้งหมด 50 คน อาสาสมัครจะตอบคำถามเกี่ยวกับเสียงนาฬิกาปลุกที่ตนชอบใช้ตั้งปลุกในตอนเช้า รวมไปถึงความรู้สึกเกี่ยวกับเสียงปลุกนั้น และความรู้สึกในตอนที่ตื่นนอนขึ้นมา
จากการศึกษานี้ นักวิจัยพบว่าผู้ที่ตื่นนอนด้วยนาฬิกาปลุกที่เป็นเสียงเพลงจะรู้สึกตื่นตัวมากกว่า
Stuart McFarlane หัวหน้าการศึกษาครั้งนี้กล่าวกับ VOA ว่าพวกเขารู้สึกประหลาดใจมากกับผลการศึกษานี้ เพราะคิดว่าเสียงบี๊บที่ดังรุนแรงนั้น น่าจะปลุกให้ตื่นนอนได้ดีกว่า
การตื่นนอนไม่เต็มที่ หรืออาการงัวเงียหมายถึงคนที่ยังคงง่วงนอนอยู่มากเมื่อตื่นขึ้นมา และมีปัญหาในการเคลื่อนไหวตัว
McFarlane กล่าวว่าทุกคนจำเป็นต้องเข้าใจถึงผลกระทบที่เป็นอันตรายของอาการตื่นนอนไม่เต็มที่ให้ดียิ่งขึ้น อาการงัวเงียนั้นมักจะเกิดขึ้นในตอนเช้าเป็นระยะเวลานานถึง 30 นาที แต่ผลการศึกษาพบว่าอาการงัวเงียนี้อาจอยู่ได้นาน 2-4 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีอาการงัวเงียเป็นเวลานานๆ แต่ผู้ที่มีอาการเช่นนั้นก็ควรหาทางแก้ไข โดยเฉพาะอย่ายิ่งเมื่อต้องปฏิบัติหน้าที่ที่ต้องใช้ประสิทธิภาพร่างกายสูงสุด ซึ่งรวมถึงงานต่างๆ ที่เป็นอันตรายเช่นการขับรถหรือปั่นจักรยาน หลังจากที่ตื่นนอนได้ไม่นาน เช่นเดียวกับคนที่ทำงานในสถานการณ์อันตรายหลังจากที่ตื่นนอน เช่นนักดับเพลิงและนักบิน เป็นต้น
นอกจากนี้การตื่นนอนไม่เต็มที่ หรืออาการงัวเงีย ยังเชื่อมโยงไปถึงอุบัติเหตุที่สำคัญรวมถึงอุบัติเหตุเครื่องบินตก และอุบัติเหตุในการขนส่งต่างๆ ด้วย
เหตุใดการตั้งนาฬิกาปลุกด้วยเสียงเพลงจึงดีกว่า?
นักวิจัยคิดว่าเสียงเพลงอาจจะช่วยลดอาการงัวเงียได้ดีกว่า เพราะมีหลายโทนเสียงเมื่อเทียบกับโทนเสียงเดียวของเสียงปลุก "บี๊บ"
McFarlane กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงในท่วงทำนองของเสียงดนตรีอาจช่วยให้ตื่นตัวหลังจากที่ตื่นนอนได้ แต่ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปคำตอบของเรื่องนี้ จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้ได้คำตอบที่แท้จริง
เพลงประเภทไหนที่เหมาะสำหรับการใช้เป็นเสียงนาฬิกาปลุก?
นักวิจัยแนะนำเสียงนาฬิกาปลุกที่ง่ายต่อการฮัมหรือร้องคลอตามไปด้วย McFarlane บอกว่าเสียงเพลงที่เขาใช้ตั้งปลุกอยู่ตอนนี้ก็มี ‘Close to me’ โดย the Cure และ ‘Borderline’ โดยMadonna
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าไม่ว่าจะตื่นนอนได้อย่างไร แต่ระยะเวลาในการนอนหลับนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
นายแพทย์ Stuart F. Quan ผู้อำนวยการแผนกความผิดปกติด้านการนอนและจังหวะรอบวันที่โรงพยาบาล Brigham and Women’s ในนครบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ให้คำแนะนำในการช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้นและรู้สึกสดชื่นกะปรี้กะเปร่าทุกเช้าไว้ดังนี้
• กำหนดเวลาปกติ - เข้านอนและตื่นในเวลาเดียวกันทุกวันแม้กระทั่งวันหยุดสุดสัปดาห์ นักวิจัยแนะนำให้นอนอย่างน้อยคืนละเจ็ดชั่วโมง
• ตกแต่งห้องให้เหมาะสำหรับการนอนหลับ - ห้องควรจะมืดสนิทในขณะที่นอนหลับ วางเตียงให้ห่างจากหน้าต่าง พยายามทำให้ห้องเงียบและมีความเย็น
• ออกกำลังกาย - การศึกษาส่วนใหญ่ชี้ว่าการออกกำลังกายตามปกติ คือสามหรือสี่ครั้งต่อสัปดาห์ช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น
• พยายามไม่ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บนเตียง – ปิดโทรศัพท์มือถือของคุณก่อนเข้านอน หรือวางไว้โดยการตั้งค่า “ห้ามรบกวน”
• หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อใหญ่ก่อนนอน
• จำกัดปริมาณนิโคติน คาเฟอีน และแอลกอฮอล์ก่อนนอน
• ควรตื่นตัวหรือเคลื่อนไหวให้มากขึ้นในระหว่างวัน - วิธีนี้จะช่วยให้คุณหลับได้เร็วขึ้นและง่ายขึ้น