หากอธิบายอย่างง่ายที่สุด “เมตาเวิร์ส” เปรียบเสมือนการนำโลกอินเตอร์เน็ตมาทำให้เป็นโลกจริง หรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็นโลกในแบบสามมิติ
มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ประธานบริหารของ “เมตา” ซึ่งเป็นชื่อใหม่ของเฟซบุ๊ค อธิบายว่า เมตาเวิร์สคือ “สภาพแวดล้อมเสมือนจริง” ที่ผู้ใช้งานสามารถเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ได้จริงไม่เพียงแต่มองผ่านจอเท่านั้น เป็นโลกที่ไม่มีที่สิ้นสุด เชื่อมต่อสังคมเสมือนจริงเพื่อให้ผู้คนพบปะ ทำงาน หรือทำกิจกรรมสันทนาการร่วมกันได้ผ่านชุดอุปกรณ์สวมศีรษะ VR แว่นตา แอปพลิเคชั่นสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์อื่นๆ
วิคตอเรีย เพทร็อค นักวิเคราะห์ด้านเทคโนโลยี ระบุว่า เมตาเวิร์สยังครอบคลุมชีวิตออนไลน์ด้านอื่นๆ เช่น การซื้อของหรือการใช้สื่อสังคมออนไลน์ โดยเธอมองว่า เมตาเวิร์สเป็นเหมือนวิวัฒนาการของการเชื่อมต่อระหว่างผู้คนไปอีกขั้นหนึ่ง ทำให้ผู้คนใช้ชีวิตร่วมกันในโลกเสมือนจริงได้เหมือนกับที่ใช้ชีวิตในโลกจริงๆ
สำนักข่าว The Associated Press ชวนติดตามดูเรื่องราวของ “เมตาเวิร์ส” ไพ่ใบใหม่จากเจ้าพ่อสื่อสังคมออนไลน์อย่างซักเคอร์เบิร์ก
เราทำอะไรใน “เมตาเวิร์ส” ได้บ้าง?
เราสามารถทำกิจกรรมได้หลากหลายในเมตาเวิร์ส ตั้งแต่การเข้าชมคอนเสิร์ตเสมือนจริง เที่ยวออนไลน์ ชมหรือผลิตผลงานศิลปะ ไปจนถึงลองหรือซื้อเสื้อผ้าดิจิตัล
เมตาเวิร์สยังอาจเป็นจุดเปลี่ยนของการทำงานจากบ้านที่มีมากขึ้นในช่วงการระบาดของโรควิด-19 โดยพนักงานอาจประชุมร่วมกันได้ที่สำนักงานแบบเสมือนจริงแทนการประชุมผ่านหน้าจอวิดีโอเหมือนในปัจจุบัน
เมื่อเดือนสิงหาคม เฟซบุ๊คเปิดตัว “ฮอไรซอน เวิร์ครูมส์” (Horizon Workrooms) ซอฟท์แวร์สำหรับจัดประชุมเพื่อใช้กับอุปกรณ์สวมศีรษะ VR โดยเฉพาะ โดยทำให้ผู้ใช้งานท่องเที่ยวผ่านโลกเสมือนจริงของบริษัทหนึ่งไปยังโลกเสมือนจริงของอีกบริษัทได้ในพริบตาผ่านทางตัวอวตารของผู้ใช้งาน อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์นี้มีราคาอย่างต่ำ 300 ดอลลาร์ซึ่งถือว่ามีราคาค่อนข้างสูง และผลตอบรับเบื้องต้นของซอฟท์แวร์ดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นไปในทางที่ดีนัก
นอกจากนี้ บริษัทเทคโนโลยียังคงต้องหาวิธีเชื่อมต่อโลกออนไลน์ของแต่ละบริษัทเข้าด้วยกันให้ได้ โดยบริษัทคู่แข่งอาจต้องตกลงหามาตรฐานร่วมกันเพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อกันได้ เพื่อให้ “เมตาเวิร์ส” ของทุกบริษัทมีความเป็นหนึ่งเดียว
เฟซบุ๊คเดิมพันหมดหน้าตักไปกับเมตาเวิร์สเลยหรือไม่?
สำนักข่าว The Associated Press วิเคราะห์ว่า ซักเคอร์เบิร์กมัก “ทำการใหญ่” ไปกับสิ่งที่เขาเห็นว่าจะเป็นก้าวต่อไปของอินเตอร์เน็ต เพราะเขาเห็นว่าสิ่งนั้นจะมีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจดิจิตัล
อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์ตั้งข้อสังเกตว่าท่าทีของซักเคอร์เบิร์กครั้งนี้อาจเพื่อพยายามเบี่ยงเบนความสนใจจากวิกฤตที่เฟซบุ๊คเผชิญอยู่ เช่น ข้อกล่าวหาว่าเฟซบุ๊คทำธุรกิจผูกขาโดยมีอดีตพนักงานเฟซบุ๊คมาเป็นพยาน รวมถึงความกังวลต่อการรับมือกับข้อมูลเท็จของเฟซบุ๊ค
ฟรานเซส ฮอเกน อดีตพนักงานเฟซบุ๊ค กล่าวหาว่าเฟซบุ๊คเปิดพื้นที่ให้ข้อมูลที่เป็นอันตรายต่อเด็กและปลุกปั่นความรุนแรงทางการเมือง โดยฮอเกนคัดลอกเอกสารวิจัยภายในของเฟซบุ๊คและส่งให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ และสื่อต่างๆ รวมทั้งสำนักข่าว The Associated Press ที่รายงานว่า เฟซบุ๊คให้ความสำคัญต่อกำไรมากกว่าความปลอดภัยของผู้ใช้งาน และไม่เปิดเผยงานวิจัยของบริษัทต่อนักลงทุนและสาธารณะ
เมตาเวิร์สเป็นโครงการของเฟซบุ๊คเท่านั้นหรือไม่?
เมตาเวิร์สไม่ใช่โครงการของเฟซบุ๊คเท่านั้น บริษัทอื่นๆ เช่น ไมโครซอฟท์ (Microsoft) และอินวิเดีย (Nvidia) บริษัทผลิตชิป ก็มีโครงการเมตาเวิร์สเช่นกัน
ริชาร์ด เคอร์ริส รองประธานของออมนิเวิร์ส (Omniverse) โครงการโลกเสมือนจริงของอินวิเดีย ระบุว่า บริษัทหลายแห่งจะสร้างโลกและสิ่งแวดล้อมเสมือนจริงในเมตาเวิร์ส เช่นเดียวกับที่บริษัทต่างๆ มีเว็บไซต์เป็นของตนเอง ซึ่งสิ่งสำคัญคือ โลกเสมือนจริงของแต่ละบริษัทจะต้องเปิดกว้างและเข้าถึงได้ง่าย เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถท่องไปยังเมตาเวิร์สของบริษัทหนึ่งไปยังอีกบริษัทหนึ่งโดยสะดวก คล้ายกับการที่ผู้ใช้งานสามารถเปลี่ยนจากเว็บเพจหนึ่งไปยังอีกเว็บเพจหนึ่งได้โดยง่าย
นอกจากนี้ บริษัทวิดีโอเกมยังให้ความสนใจต่อเมตาเวิร์สด้วยเช่นกัน เช่น บริษัทเอ็พพิค เกมส์ (Epic Games) ที่ระดมทุน 1,000 ล้านดอลลาร์จากนักลงทุนเพื่อใช้กับโครงการสร้างเมตาเวิร์สระยะยาว และบริษัทเกม โรบล็อกซ์ (Roblox) ที่ให้คำจำกัดความเมตาเวิร์สว่าเป็นสถานที่ที่ “ผู้คนมาเจอกันเพื่อเรียนรู้ ทำงาน สันทนาการ สร้างสรรค์ และเข้าสังคม ด้วยประสบการณ์สามมิติหลายล้านรูปแบบ”
บริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคก็พยายามเกาะกระแสเมตาเวิร์สด้วยเช่นกัน เช่น กุชชี่ (Gucci) บริษัทแฟชั่นสัญชาติอิตาลี ที่จับมือกับโรบล็อกซ์เพื่อขายชุดเครื่องประดับดิจิตัล หรือ โคคา-โคลา (Coca-Cola) บริษัทน้ำอัดลมยักษ์ใหญ่ และคลีนีค (Clinique) บริษัทเครื่องสำอาง ที่ขายโทเคนดิจิทัลเพื่อปูทางไปสู่การสร้างเมตาเวิร์ส
เมตาเวิร์สจะเป็นอีกช่องทางที่ใช้เก็บข้อมูลของฉันอีกหรือไม่?
สำนักข่าว The Associated Press วิเคราะห์ว่า การที่เฟซบุ๊คประกาศลงทุนกับเมตาเวิร์สนั้นค่อนข้างขัดกับหลักการของเมตาเวิร์สที่มีผู้จำกัดความว่า เมตาเวิร์สควรเป็น “การปลดปล่อยทางวัฒนธรรมออนไลน์” จากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ เช่น เฟซบุ๊ค ที่ถือสิทธิ์ความเป็นเจ้าของต่อบัญชี รูปภาพ โพส และข้อมูลอื่นๆ ของผู้ใช้ และนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้หาผลประโยชน์
สตีฟ จาง ผู้จัดการร่วมของบริษัทเงินร่วมลงทุน Kindred Ventures และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสกุลเงินคริปโต ระบุว่า เมตาเวิร์สควรเป็นพื้นที่ที่ให้ผู้ใช้งานท่องโลกอินเตอร์เน็ตอย่างสะดวกง่ายดายโดยที่ไม่ถูกสะกดรอยติดตาม
เป็นที่แน่ชัดว่าเฟซบุ๊คจะนำแผนธุรกิจปัจจุบันมาใช้กับเมตาเวิร์ส โดยเป็นแผนนำข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บัญชีมาใช้เพื่อยิงโฆษณาใหเตรงกลุ่มเป้าหมาย ซัคเกอร์เบิร์กระบุว่า การโฆษณาจะยังคงเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของสื่อสังคมออนไลน์ของบริษัทและอาจเป็นส่วนสำคัญของเมตาเวิร์สด้วยเช่นกัน
นักวิเคราะห์กังวลว่า เฟซบุ๊คอาจกำลังสร้างโลกเสมือนจริงที่อาจต้องการข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้มากขึ้น และอาจทำให้เกิดการละเมิดและการเผยแพร่ข้อมูลเท็จมากขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่พบในเฟซบุ๊คอยู่แล้วและยังไม่ได้รับการแก้ไข
(ที่มา: สำนักข่าว The Associated Press)