ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักช็อปอเมริกันยังอินกับ ‘แบล็คฟรายเดย์’ อยู่หรือไม่?


ฤดูกาลช็อปปิ้งส่งท้ายปีเดินหน้าเต็มสูบแล้วในวันศุกร์ แบล็คฟรายเดย์ (Black Friday) หรือ ศุกร์แรกหลังวันขอบคุณพระเจ้า ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 29 พฤศจิกายน ที่บรรดาห้างร้านอัดดีลลดกระหน่ำให้ช็อปฉ่ำลืมอากาศหนาวกันตลอดสัปดาห์นี้ ยาวไปจนถึงวันจันทร์แรกหลังวันขอบคุณพระเจ้า หรือ ไซเบอร์มันเดย์ (Cyber Monday) ตามรายงานของเอพี

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางพฤติกรรมการจับจ่ายที่เปลี่ยนแปลงไปหลังการระบาดของโควิด-19 ภาวะเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และความกังวลเรื่องมาตรการกำแพงภาษีของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่กระทบต่อความเป็นไปของแบล็คฟรายเดย์ปีนี้อย่างมาก

ในปีนี้ ห้างร้านค้าปลีกต่างทยอยปล่อยโฆษณาและอีเมลส่วนลดล่วงหน้ากันหลายวันหรือหลายสัปดาห์ก่อนวันช้อปจริง แต่ยังคงมีนักช็อปอเมริกันหลายล้านคนที่ยังคงตั้งตารอจะกดสินค้าที่หมายตาลงตะกร้าในวันแบล็คฟรายเดย์ปีนี้อยู่ดี อ้างอิงจากสมาพันธ์ค้าปลีกแห่งชาติสหรัฐฯ (National Retail Federation)

ขณะที่บริษัทวิจัยผู้บริโภค Prosper Insights & Analytics คาดว่า ชาวอเมริกันราว 183.4 ล้านคนจะช็อปตามห้างร้านและบนโลกออนไลน์ ตั้งแต่วันขอบคุณพระเจ้าจนถึงไซเบอร์มันเดย์ปีนี้ และ 131.7 ล้านคน จะพร้อมจ่ายในวันแบล็คฟรายเดย์เพียงวันเดียว

ในเวลาเดียวกันนี้ โปรโมชั่นแบล็คฟรายเดย์ที่มาเร็วกว่าแต่ก่อน และดีลช็อปปิ้งที่น่าดึงดูดใจมากขึ้นกว่าวันนี้อย่างไซเบอร์มันเดย์ ทำให้การจับจ่ายช่วงเทศกาลของขาช็อปอเมริกันมีซวนเซไปอยู่บ้าง และนำไปสู่คำถามว่านักช็อปอเมริกันยังอินกับ ‘แบล็คฟรายเดย์’ อยู่หรือไม่?

‘แบล็คฟรายเดย์’ มาจากไหนและเกิดขึ้นได้อย่างไร?

‘แบล็คฟรายเดย์’ เป็นคำเก่าแก่หลายชั่วอายุคน ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจับจ่ายช่วงเทศกาลปลายปีเหมือนที่เรารู้จักในปัจจุบัน เพราะเป็นการพูดถึงตลาดทองคำที่ดิ่งหนักในเดือนกันยายนปี 1869 ซึ่งเรียกว่า แบล็คฟรายเดย์

อย่างไรก็ตาม มีการนำคำนี้มาใช้เรียกว่าซื้อของหลังเทศกาลวันขอบคุณพระเจ้า เมื่อช่วงกลางศตววรษที่ 20 ในฟิลาเดลเฟีย เมื่อตำรวจและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นต้องรับมือกับมวลมหาประชาชนที่แออัดยัดเยียดในเกมอเมริกันฟุตบอลระหว่างทีมกองทัพบกและกองทัพเรือสหรัฐฯ และการแห่ซื้อสินค้าช่วงเทศกาลปลายปี

เอพีย้อนถึงบทสัมภาษณ์ของผู้จัดการห้างสรรพสินค้า Gimbels ในฟิลาเดลเฟีย เมื่อปี 1975 ที่กำลังดูตำรวจควบคุมฝูงชนที่ฝ่าไฟแดงเดินข้ามถนนหลังวันขอบคุณพระเจ้า โดยบอกว่า “นี่คือเหตุผลว่าทำไมคนขับรถบัสและแท็กซี่ถึงเรียกวันนี้ว่า แบล็คฟรายเดย์ เพราะเป็นวันที่สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้พวกเขาไง”

ทั้งนี้ มีการพูดถึงแบล็คฟรายเดย์ในอดีตที่นานกว่านั้น คือในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1950 และ 1960

โดย จี จาง อาจารย์ด้านการตลาด จาก Robert H. Smith School of Business แห่ง University of Maryland บอกกว่า มีการพูดถึงแบล็คฟรายเดย์ ในนิตยสารด้านการลงทุน เมื่อปี 1951 ที่พนักงานจะลาป่วยหลังวันขอบคุณพระเจ้า เพื่อจะได้วันหยุดยาวไปสุดสัปดาห์

และในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมาห้างค้าปลีกในอเมริกาเริ่มอ้างถึงวันแบล็คฟรายเดย์ว่าเป็นช่วงที่ธุรกิจที่กำลังดำเนินกิจการอยู่ในแดนลบ ซึ่งเป็นตัวเลขสีแดงในทางบัญชีได้กลับฟื้นคืนมาเป็นสีดำได้ เนื่องจากความต้องการสินค้าในช่วงเทศกาลส่งท้ายปี แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าปัจจุบันห้างค้าปลีกก็ไม่ได้จมอยู่ในกองหนี้ในหลายช่วงเวลาของปีอยู่แล้ว การตีความดังกล่าวจึงไม่ได้มีนัยสำคัญอะไรในยุคปัจจุบัน

‘แบล็คฟรายเดย์’ เปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน?

ในช่วงหลายสิบปีมานี้ แบล็คฟรายเดย์ขึ้นชื่อเรื่องคลื่นมหาชนที่บุกเข้าไปซื้อของในห้างร้านอเมริกา ภาพการต่อแถวคิวยาวเหยียดถึงขั้นตั้งแคมป์ข้ามคืนเพื่อหวังจะได้สินค้าราคาลดกระหน่ำก่อนใครในเช้าวันศุกร์

แม้ว่าการช็อปออนไลน์ทำให้การซื้อสินค้าช่วงเทศกาลสะดวกขึ้นมากกว่าเดิม และการเดินทางไปห้างและแหล่งช็อปปิ้งเพิ่งกลับมาเป็นกระแสหลังโควิดคลี่คลาย การช็อปออนไลน์ก็ไม่ได้หายไปจากสังคมอเมริกันได้โดยง่าย

เมื่อเทียบข้อมูลเมื่อปี 2003 ยอดซื้อสินค้าออนไลน์อยู่ที่ 1.7% ของยอดขายค้าปลีกในไตรมาส 4 ของปี อ้างอิงจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ แต่ในปลายปี 2019 ยอดช็อปออนไลน์พุ่งขึ้นมาเป็น 17.1% ของยอดค้าปลีกรวมในช่วงเวลาเดียวกันนี้

อย่างไรก็ตาม National Retail Federation และ Prosper Insight คาดว่า 65% ของชาวอเมริกันจะช็อปกันในวันแบล็คฟรายเดย์ปีนี้ ขณะที่เจย์ ซาโกร์สกี อาจารย์จาก Questrom School of Business แห่ง Boston University บอกว่าสินค้ายอดนิยม หนีไม่พ้นโทรทัศน์ ที่ราคาในปัจจุบันถูกกว่าในอดีตถึง 75% เมื่อเทียบกับปี 2014

เมื่อ ‘แบล็คฟรายเดย์’ ยาวนานเป็นเดือน และ ‘ไซเบอร์มันเดย์’ ทำนักช็อปไขว้เขว

ปัจจุบันแบล็คฟรายเดย์ไม่ได้หยุดที่ 24 ชั่วโมงอีกต่อไป เพราะดีลช็อปกระจายนั้นเริ่มมาตั้งแต่หลังวันฮัลโลวีนแล้ว โดยจางอธิบายว่าเป็นการแข่งขันแย่งลูกค้าของห้างร้านด้วยกิมมิคที่จะจัดส่งสินค้าให้ทันก่อนเทศกาล และการหย่อนดีลดึงดูดใจบางอย่างล่วงหน้าไปหลายวันหรือหลายสัปดาห์

นอกจากนี้ ยังมีวันอื่น ๆ หลังแบล็คฟรายเดย์ ที่ทำให้นักช็อปอเมริกันลังเลจะซื้อสินค้า เช่น Small Business Saturday และ Cyber Monday ที่เพิ่งเริ่มต้นในช่วงปี 2005 อ้างอิงจาก National Retail Federation

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Adobe Analytics เมื่อปี 2023 พบว่า ชาวอเมริกันใช้เงินไป 12,400 ล้านดอลลาร์ในวัน Cyber Monday และจ่ายเงินราว 15.7 ล้านดอลลาร์ต่อนาทีในชั่วโมงท้าย ๆ ของวันนั้น ขณะที่ช็อปในวันแบล็คฟรายเดย์ไป 9,800 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ซาโกร์สกี เชื่อว่าแบล็คฟรายเดย์จะไม่เลือนหายไปง่าย ๆ แม้จะลดความสำคัญไปบ้าง เพราะผู้คนยังคงอิน ขณะที่ห้างร้านจะยังโหมกระแสไม่ให้จมหายไปกับเทศกาลช็อปอื่น ๆ

  • ที่มา: เอพี

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG