ลิ้งค์เชื่อมต่อ

แขกไม่รับเชิญ ‘ลานีญา’ – ปรากฏการณ์ทางภูมิอากาศที่จ่อมาเยือนถี่ขึ้น


FILE - The Manayunk neighborhood in Philadelphia is flooded Thursday, Sept. 2, 2021, in the aftermath of downpours and high winds from the remnants of Hurricane Ida.
FILE - The Manayunk neighborhood in Philadelphia is flooded Thursday, Sept. 2, 2021, in the aftermath of downpours and high winds from the remnants of Hurricane Ida.

ปรากฏการณ์ลานีญา ซึ่งก่อให้เกิดภาวะต่าง ๆ ที่ไม่พึงประสงค์ อย่างเช่น ภาวะแล้งเพิ่มขึ้นในฝั่งตะวันตกของประเทศสหรัฐฯ รวมไปถึงก่อให้เกิดพายุเฮอร์ริเคนแอตแลนติกจำนวนมากขึ้น เริ่มมีทิศทางการเกิดขึ้นถี่ขึ้นกว่าที่คิด โดยนักอุตุนิยมวิทยาเชื่อว่า ภัยแล้งมหันต์ในฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ จะไม่จบสิ้น จนกว่าปรากฏการณ์ลานีญานั้นจะหมดไป

ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา การเกิดลานีญาติดต่อกัน หรือ “double-dip La Nina” ได้สร้างสถิติใหม่ในแง่ความรุนแรงขึ้นแล้ว ขณะที่ มีการคาดการณ์ว่า ปรากฏการณ์นี้อาจจะเกิดขึ้นอีกครั้งในปลายนี้ หรือเป็นฤดูหนาวที่ 3 ติดต่อกันด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น นักวิทยาศาสตร์เริ่มสังเกตพบว่า ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา โลกต้องเผชิญกับลานีญามากกว่าที่เคย ซึ่งเป็นกรณีตรงกันข้ามกับสิ่งที่ระบบคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูงที่สุดได้จำลองสถานการณ์ออกมาก่อนหน้าด้วย

การวิเคราะห์ด้านสถิติของสำนักข่าว AP ระบุว่า ในช่วงระหว่างปี 1950 ถึง ปี1999 เกิดลานีญาในฤดูหนาวราว 28% แต่สำหรับฤดูหนาวในรอบ 25 ปีที่ผ่านมา เกิดลานีญามากถึงเกือบ 50%

มิเชล เลริกส์ หัวหน้าสำนักงานพยากรณ์ จาก สถาบันสมุทรศาสตร์วิทยาเเละชั้นบรรยากาศโลกเเห่งชาติสหรัฐฯ (National Oceanic and Atmospheric Administration - NOAA) ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ลานีญา ให้ความเห็นว่า ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ และถ้าในฤดูหนาวปีนี้เกิดลานีญาจริง ๆ จะส่งผลเชิงสถิติอย่างมีนัยสำคัญ

เลริกส์ วิเคราะห์ไว้ด้วยว่า ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา เกิดสภาวะที่คล้ายลานีญาบ่อยขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากการศึกษาอื่น ๆ

ริชาร์ด ซีเกอร์ นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) และแคร์รี่ เอมมานูเอล นักวิทยาศาสตร์ด้านพายุเฮอร์ริเคนจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ MIT ให้ข้อมูลว่า แบบจำลองสภาพภูมิอากาศทั่วโลก มีแนวโน้มที่จะพยากรณ์เอลนิโญได้มากกว่าลานีญา ทำให้กลุ่มบุคคลที่สนใจในเรื่องนี้เกิดการโต้เถียงกันว่า ควรจะเชื่อระบบใดกันแน่

ซีเกอร์ และนักวิทยาศาสตร์คนอื่น ๆ กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ อุณหภูมิในมหาสมุทรแอตแลนติกบริเวณเส้นศูนย์สูตรทางฝั่งตะวันออกไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นได้เร็วเท่ากับทางฝั่งซีกตะวันตก หรือแม้แต่บริเวณอื่นทั่วโลกที่ประสบปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นนั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญ เท่ากับประเด็นความแตกต่างระหว่างสองซีกโลกนี้ โดยยิ่งความแตกต่างที่ว่านี้มีมากเท่าใด โอกาสที่จะเกิดลานีญาจะมีมากขึ้นเท่านั้น ขณะที่ ในทางตรงกันข้าม หากความแตกต่างนั้นมีไม่มากเท่าใด โอกาสที่จะก่อให้เกิดเอลนิโญก็จะสูงขึ้นมากเท่านั้น

ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า สภาวะที่เกิดขึ้นนี้อาจจะเกี่ยวข้องกับวัฏจักรที่เรียกว่า PDO หรือ Pacific Decadal Oscillation หรืออาจจะมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมของมนุษย์ หรืออาจะเป็นเพราะทั้งสองปัจจัยเลยก็เป็นได้

ปรากฏการณ์ลานีญาเป็นวัฏจักรตามธรรมชาติที่มีการเย็นตัวลงบางส่วนในแถบเส้นศูนย์สูตรของมหาสมุทรแปซิฟิก ที่ก่อให้เกิดสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปทั่วโลก ในแบบที่ตรงกันข้ามกับปรากฏการณ์เอลนีโญที่ทำให้อุณภูมิปรับสูงขึ้น โดยสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมักทำให้เกิดพายุเฮอร์ริเคนในมหาสมุทรแอตแลนติกบ่อยขึ้น และทำให้ฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ มีฝนน้อยลงและเกิดไฟป่ามากขึ้น ทั้งยังทำให้พื้นที่ตอนกลางของสหรัฐฯ ต้องพบความเสียหายทางการเกษตร

การศึกษาชี้ว่า ปรากฏการณ์ลานีญาสร้างความเสียหายให้กับสหรัฐฯ ในมูลค่าสูงกว่าผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนิโญอย่างมาก

In this Tuesday, Aug. 17, 2021 file image from a U.S. Forest Service wildfire monitoring camera, plumes of smoke rise from the Caldor Fire in El Dorado County, Calif. (U.S. Forest Service/ALERTWildfire Network via AP, File)
In this Tuesday, Aug. 17, 2021 file image from a U.S. Forest Service wildfire monitoring camera, plumes of smoke rise from the Caldor Fire in El Dorado County, Calif. (U.S. Forest Service/ALERTWildfire Network via AP, File)

และเมื่อนำปรากฏการณ์เอลนิโญและลานีญา รวมทั้ง สภาพภูมิอากาศแบบกลาง ๆ มารวมกัน จะถูกเรียกว่า El Nino Southern Oscillation หรือว่า ENSO ซึ่งเป็นสภาพการณ์แบบหนึ่งที่มีผลกระทบตามธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดต่อสภาพภูมิอากาศ

อาซาร์ เอห์ซาน นักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และหัวหน้าฝ่ายการพยากรณ์ปรากฏการณ์เอลนิโญและลานีญา ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กล่าวว่า “ปรากฏการณ์เหล่านี้มีความรุนแรงอย่างยิ่ง...และการที่ลานีญา จะเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่สาม ไม่ใช่สิ่งที่เราอยากจะเจอเลย”

เขายังเสริมว่า อุณหภูมิความร้อนที่เข้าขั้นอันตราย ที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดียและปากีสถาน ช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคมที่ผ่านมา มีความเกี่ยวข้องกับลานีญาด้วย

เอห์ซานยังให้ข้อมูลเพิ่มว่า ปกติแล้ว ลานีญาที่เกิดขึ้นในปีที่สองมักที่จะอ่อนกำลังลง แต่ในเดือนเมษายนของปีนี้ ลานีญากลับสร้างสถิติความรุนแรง จนทำให้นักอุตุนิยมวิทยาเกิดความประหลาดใจ

ปรากฏการณ์ลานีญาที่เกิดในปัจจุบัน ก่อตัวขึ้นในช่วงฤดูร้อนปี 2020 โดยในเวลานั้น เกิดพายุขึ้นหลายลูกเหนือมหาสมุทรแอตแลนติก และทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในช่วงฤดูหนาว ซึ่งส่งผลให้ฝั่งตะวันตกของประเทศสหรัฐฯ ต้องเผชิญความแล้งที่มากขึ้น ก่อนที่ สถานการณ์ดูเหมือนจะสงบลงในช่วงต้นฤดูร้อนปี 2021 จนสถาบันสมุทรศาสตร์วิทยาเเละชั้นบรรยากาศโลกเเห่งชาติสหรัฐฯ หรือ NOAA ออกมากล่าวว่า ทุกอย่างอยู่ในภาวะปกติ แต่แล้วไม่กี่เดือนถัดมา ในช่วงต้นฤดูใบไม้ร่วงปี 2021 ก็เกิดปรากฏการณ์ลานีญาติดต่อกันเป็นครั้งที่สอง

ลานีญามักที่จะมีผลกระทบอย่างมากในฤดูหนาว ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ เพราะเป็นช่วงเวลาที่ควรจะมีฝนตกเหนืออ่างเก็บน้ำ ทำให้ในพื้นที่ดังกล่าวต้องเผชิญภัยแล้งมหันต์มาอย่างต่อเนื่อง 22 ปี ซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่ลานีญาเพิ่มความถี่มากขึ้น

Tropical Weather Hurricane Agatha
Tropical Weather Hurricane Agatha

นอกจากนั้น หนึ่งในปัจจัยสำคัญในการก่อตัวของพายุคือ กระแสลมที่พัดตัดกัน ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ได้ เช่น ทำให้พายุเฮอร์ริเคนมีความรุนแรงมากขึ้นหรืออาจทำให้พายุดังกล่าวสงบลง

คริสเตน คอร์บอเซโร นักวิจัยเกี่ยวกับพายุเฮอร์ริเคนจากมหาวิทยาลัยแห่งอัลบานี (University of Albany) อธิบายว่า เมื่อเกิดปรากฏการณ์เอลนิโญ จะพบกระแสลมที่พัดตัดกันเป็นจำนวนมากเหนือมหาสมุทรแอตแลนติก จนเป็นผลให้พายุเฮอร์ริเคนไม่สามารถเคลื่อนผ่านไปได้ แต่เมื่อเกิดปรากฏการณ์ลานีญา พายุจะถูกเสริมกำลังและเคลื่อนผ่านได้อย่างง่ายดาย

ในรายงานยังระบุว่า บางพื้นที่ เช่น ฝั่งตะวันออกของทวีปออสเตรเลีย และเขตรอยต่อซาเฮลที่แห้งแล้งในทวีปแอฟริกา ได้รับปริมาณฝนอันเป็นผลมาจากลานีญา เช่นเดียวกับประเทศอินเดียและปากีสถาน แม้จะต้องเจออุณหภูมิที่ร้อนมากเป็นพิเศษ แต่ก็ได้รับปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มมากขึ้น

การศึกษาด้านเศรษฐกิจในปี 1999 พบว่า เอลนิโญสร้างมูลค่าความเสียหายให้กับภาคการเกษตรของสหรัฐฯ ราว 1,500 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ ภัยแล้งอันเป็นผลมาจากลานีญา สร้างความเสียหายสูงแตะระดับ 2,200 ถึง 6,500 ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว

ที่มา: วีโอเอ

XS
SM
MD
LG