ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ยูนิเซฟ: ภัยพิบัติด้านอากาศทำเด็ก 43 ล้านคนพลัดถิ่นในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา


ภาพของคุณแม่คนหนึ่งที่พาลูก ๆ ซึ่งหนีภัยแล้งมาสร้างที่พักชั่วคราวในค่ายสำหรับผู้พลัดถิ่น ที่บริเวณชานเมืองกรุงโมกาดิชู ประเทศโซมาเลีย เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2023
ภาพของคุณแม่คนหนึ่งที่พาลูก ๆ ซึ่งหนีภัยแล้งมาสร้างที่พักชั่วคราวในค่ายสำหรับผู้พลัดถิ่น ที่บริเวณชานเมืองกรุงโมกาดิชู ประเทศโซมาเลีย เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2023

รายงานล่าสุดจากองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า พายุ น้ำท่วม ไฟป่า และสภาพอากาศสุดโต่งต่าง ๆ ทำให้เด็กราว 43 ล้านคนต้องกลายเป็นคนพลัดถิ่นระหว่างปี ค.ศ. 2016 และ 2021

ข้อมูลดังกล่าวที่ระบุไว้ในรายงานที่เผยแพร่ออกมาในวันศุกร์ยังประเมินด้วยว่า ตัวเลขของเด็กพลัดถิ่นในช่วง 3 ทศวรรษจากนี้จะพุ่งเป็นกว่า 113 ล้านคน เมื่อพิจารณาปัจจัยความเสี่ยงจากภาวะแม่น้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือน ลมพายุไซโคลน และน้ำท่วมที่เกิดขึ้นหลังพายุกระหน่ำแล้ว

ทั้งนี้ รายงานข่าวมักจะไม่ได้ลงรายละเอียดถึงความทุกข์ระทมของผู้ประสบภัยพิบัติรุนแรง เช่น ภาวะแล้งจัด เพราะในความเป็นจริง มีเด็กไม่น้อยกว่า 1.3 ล้านคนที่ต้องตามครอบครัวอพยพออกจากบ้านตนเองเพราะภัยแล้งที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีการเก็บข้อมูลสำหรับรายงานของยูเอ็นนี้ โดยกว่าครึ่งของกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นในประเทศโซมาเลีย

แต่รายงานนี้ยอมรับว่า ตัวเลขข้างต้นน่าจะต่ำกว่าความเป็นจริงอยู่ดี เพราะโดยปกติ จะไม่มีการวางแผนอพยพหนีภัยเพราะภาวะแล้ง เหมือนกรณีของภาวะน้ำท่วมหรือพายุโหมกระหน่ำ ซึ่งหมายความว่า ไม่สามารถจัดเก็บตัวเลขอย่างเป็นระบบได้

ลอรา ฮีลี ผู้เชี่ยวชาญด้านการอพยพถิ่นฐานจาก United Nations Children's Fund (UNICEF) ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงานจัดเตรียมรายงานล่าสุดนี้ บอกว่า “ความเป็นจริงก็คือว่า มีเด็กจำนวนสูงกว่านี้มากที่จะได้รับผลกระทบในอนาคต เพราะแรงกระทบจจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ยังเดินหน้ายกระดับความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

ข้อมูลจากรายงานนี้ยังชี้ด้วยว่า ภาวะน้ำท่วมเป็นสาเหตุให้เด็กต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นกว่า 19 ล้านครั้งในพื้นที่ประเทศอินเดียและจีน ขณะที่ ไฟป่าคือสาเหตุที่ทำให้เด็กในสหรัฐฯ และแคนาดาเป็นคนพลัดถิ่นถึง 810,000 ครั้ง

รายงานข่าวระบุว่า ข้อมูลติดตามการอพยพย้ายถิ่นฐานเพราะสภาพอากาศสุดโต่งนั้นมักจะไม่มีการจำแนกว่าเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ แต่รายงานของยูนิเซฟนั้นได้รับความช่วยเหลือจาก International Displacement Monitoring Center ซึ่งเป็นองค์กรไม่หวังผลกำไรในเจนีวา ในการจัดทำแผนที่ข้อมูลพื้นที่ที่เด็กน่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพื่อจัดทำรายงานนี้

โดยรวมแล้ว ผู้จัดทำรายงานสรุปว่า ฟิลิปปินส์ อินเดียและจีน คือ ประเทศที่มีเด็กพลัดถิ่นเพราะภัยพิบัติทางสภาพอากาศมากที่สุด และคิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของเด็กพลัดถิ่นทั่วโลก โดยข้อมูลจาก 3 ประเทศนี้ค่อนข้างเชื่อถือได้ แม้จะเป็นประเทศที่มีประชากรจำนวนมากกระจัดกระจายอยู่ไปทั่ว แต่มีระบบการอพยพประชาชนที่แข็งแกร่งพอจะเก็บข้อมูลได้ดี

แฟ้มภาพ -- จนท.กู้ภัยใช้เรือยางทำการอพยพประชาชนในเมืองจั้วโจว มณฑลเหอเป่ย ประเทศจีน หนีภัยน้ำท่วม เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2023
แฟ้มภาพ -- จนท.กู้ภัยใช้เรือยางทำการอพยพประชาชนในเมืองจั้วโจว มณฑลเหอเป่ย ประเทศจีน หนีภัยน้ำท่วม เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2023

ขณะเดียวกัน โดยเฉลี่ยแล้ว เด็ก ๆ จากพื้นที่ Horn of Africa (จะงอยแอฟริกา) หรือเกาะเล็ก ๆ ในทะเลแคริบเบียน คือ กลุ่มที่มีความเปราะบางกว่ามาก และหลายคนต้องเผชิญ “วิกฤตซัดซ้ำซ้อน” เพราะความเสี่ยงจากสภาพอากาศสุดโต่งผนวกกับภาวะความขัดแย้ง สถาบันทางการเมืองอันอ่อนแอและความยากจนในพื้นที่ของตน ตามความเห็นของฮีลี

ท้ายสุด รายงานชิ้นนี้ระบุว่า บริการต่าง ๆ ที่มีความสำคัญ เช่น การศึกษาและการสาธารณสุข จะต้องมี “ความสามารถรับมือกับแรงช็อค นำไปใช้ปฏิบัติในจุดอื่น ๆ ได้อย่างสะดวก และเปิดทางให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม” เพื่อที่จะได้ช่วยเด็ก ๆ และครอบครัวของพวกเขาในการรับมือกับภัยพิบัติทั้งหลายได้ดีขึ้น

  • ที่มา: เอพี

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG