นักวิจัยที่ศูนย์การแพทย์ของมหาวิทยาลัย Stanford ศึกษาประโยชน์ของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สวมใส่ได้ เช่น นาฬิกาสมาร์ทว็อทช์ และเครื่องวัดการทำงานของร่างกายขณะออกกำลังกาย
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ข้อมูลมากมายเรื่องการทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น ระดับการเต้นของหัวใจ อุณหภูมิของร่างกาย การขับเหงื่อและระดับออกซิเจนในเลือด สามารถวัดได้จากอุปกรณ์ wearable เหล่านี้
และอาจใช้เป็นสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติหรือโรคที่กำลังจะเกิดขึ้นได้
ในการทดลองของคณะวิจัยที่มหาวิทยาลัย Stanford เจ้าหน้าที่เก็บข้อมูลจากผู้ร่วมทดลอง 60 คนที่วัดข้อมูลต่างๆ ของการทำงานของร่างกายหลายชนิดเป็นระยะเวลายาวนาน เพื่อสร้างระดับมาตรฐานของร่างกายสำหรับแต่ละคน ข้อมูลจำนวนมากถึง 2 พันล้านชิ้นถูกรวมเพื่อการประมวลผล
งานวิจัยชิ้นนี้ซึ่งถูกตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ PLOS Biology มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่อุปกรณ์สมัยใหม่เหล่านี้ จะกลายเป็นเครื่องช่วยเตือนถึงความเจ็บป่วยที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อการแก้ไขหรือป้องกันโรคร้ายได้ตั้งแต่เนิ่นๆ
อาจารย์ไมเคิ่ล ชไนเดอร์ ศาสตราจารย์เจ้าของผลงานวิจัยชิ้นนี้ กล่าวว่า ตัวเขาเองได้รับประโยชน์จากการเก็บข้อมูลสุขภาพโดยตรง ในฐานะหนึ่งใน 60 ของผู้ร่วมการทดลองครั้งนี้
เขาบอกว่าเขาเคยเดินทางไปประเทศนอร์เวย์ และการวัดผลของการทำงานของร่างกายระบุว่ามีการเปลี่ยนแปลงจนอยู่ในระดับที่แตกต่างจากข้อมูลเฉลี่ยตามปกติของตน หลังจากการเดินทางข้ามทวีปครั้งนั้น
ในเวลาต่อมาเขามีไข้ และเกิดสัญญาณความผิดปกติของร่างกายอื่นๆ จนในที่สุดถูกตรวจพบว่าเป็นโรค Lyme Disease
และเนื่องจากที่ตนทราบสัญญาณเตือนที่ตรวจจับได้จากอุปกรณ์ wearable เขาจึงได้รับการรักษาโรคดังกล่าวได้อย่างทันท่วงที
นักวิจัยกล่าวว่าเครื่องมือสวมใส่ได้สมัยใหม่เหล่านี้ ช่วยสร้างค่ามาตรฐานของร่างกายของแต่ละบุคคล พร้อมกับเพิ่มข้อมูลเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าไปอยู่ในการประมวลผลด้วย
ศาสตราจารย์ชไนเดอร์ กล่าวว่าการศึกษาครั้งนี้เป็นเพียงระยะทดลองเท่านั้น และประโยชน์จากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่คงไม่สามารถมาทดแทนการวินิจฉัยโรคโดยแพทย์ได้
ประโยชน์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตคือการเตือนโดยอัตโนมัติ หากร่างกายผู้ใช้มีข้อมูลด้านสุขภาพที่แตกต่างไปจากค่ามาตรฐาน ซึ่งจะช่วยให้มีการป้องกันและรักษาโรคก่อนอาการจะบานปลาย
นักวิจัยอีกผู้หนึ่งในโครงการนี้ Jessilyn Pearl Dunn กล่าวว่า ในอนาคตอาจได้เห็นแนวทางนี้ช่วยประหยัดการซื้อข้อมูลด้านสุขภาพ
นอกจากนั้นเธอบอกว่าค่าใช้จ่ายเรื่องการเดินทางมาหาแพทย์ที่โรงพยาบาลอาจลดลงได้หากเทคโนโลยีสมัยใหม่นี้ช่วยเรื่องการให้คำแนะนำผู้ป่วยผ่านอุปกรณ์ติดต่อสื่อสาร
เพราะคงไม่ใช่เรื่องเกินจริงที่จะคิดว่า ในอนาคตข้อมูลสุขภาพผู้ป่วยจากอุปกรณ์ wearable สามารถถูกส่งตรงมาที่ห้องทำงานของแพทย์อย่างสะดวกรวดเร็ว
(รายงานโดย Kevin Enochs / เรียบเรียงโดย รัตพล อ่อนสนิท)