องค์กรด้านสภาพอากาศแห่งสหภาพยุโรปเผย ปี 2023 เป็นปีที่อุณหภูมิของโลกสูงที่สุดเป็นเท่าที่มีการบันทึกมา และอาจจะสูงที่สุดในรอบ 100,000 ปี
Copernicus Climate Change Service (C3S) ซึ่งเป็นหน่วยงานบริการข้อมูลด้านสภาพอากาศแห่งสหภาพยุโรป (อียู) ระบุในวันอังคารว่า ในปีที่แล้วนับตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา เป็นช่วงเวลาที่มีอากาศร้อนที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในอดีต
C3S ยืนยันว่า อุณหภูมิโลกในปี 2023 สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1850 แต่คาร์โล บวนเทมโป ผู้อำนวยการ C3S กล่าวว่า การตรวจสอบร่องรอยด้านภูมิศาสตร์บรรพกาล เช่น วงแหวนในเนื้อไม้ หรือฟองอากาศที่อยู่ในธารน้ำแข็ง ก็มี “ความเป็นไปได้มาก” ว่าอากาศในปีที่แล้วจะถือว่าร้อนที่สุดในรอบ 100,000 ปี
ในทางรายละเอียด อุณหภูมิเฉลี่ยของปี 2023 สูงกว่าช่วงทศวรรษที่ 1850-1900 ที่ 1.48 องศาเซลเซียส ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นยุคก่อนอุตสาหกรรม ที่มนุษยชาติเริ่มนำเชื้อเพลิงจากฟอสซิลขึ้นมาเผาเป็นพลังงานจำนวนมาก และส่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ
ในปี 2015 หลายประเทศได้ร่วมตกลงในข้อตกลงกรุงปารีสเพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียสจากยุคก่อนอุตสาหกรรม เพื่อเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างรุนแรง และแม้การเพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมาจะยังไม่ถึงจุดที่ตั้งเอาไว้ แต่ C3S ก็ระบุว่าความร้อนทะลุประวัติการณ์ในช่วงครึ่งปีหลัง ถือเป็น “สัญญาณบอกเหตุที่ร้ายแรง”
เฮย์ลีย์ ฟาวเลอร์ ศาสตราจารย์ด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศจากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล (Newcastle University) ระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว เน้นย้ำให้มนุษย์จำเป็นต้องแก้ไขปัญหา “โดยด่วนอย่างยิ่ง”
ฟาวเลอร์ระบุว่า “ความเร็วในการเปลี่ยนแปลงในโลกการเมือง และเจตนารมณ์ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจริง ๆ นั้น ไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ”
รอยเตอร์รายงานว่า ปี 2023 เป็นปีที่มนุษย์ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านการเผาไหม้ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซสูงที่สุด ไม่เพียงเท่านั้น ทุกวันของปีที่แล้ว ยังมีอุณหภูมิสูงกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรมถึง 1 องศาเซลเซียส และยังมีสองวันในช่วงเดือนพฤศจิกายน ที่อุณภูมิสูงกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรม 2 องศาเซลเซียสเป็นครั้งแรกอีกด้วย
บวนเทมโป กล่าวด้วยว่า ปี 2023 มีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่าปี 2016 ที่เคยเป็นปีที่ร้อนที่สุด ถึง 0.17 องศาเซลเซียส ถือเป็นการทำลายสถิติแบบ “ทิ้งห่างชัดเจน”
นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์แล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นในปีที่แล้ว มาจากปรากฏการณ์เอลนิโญ ที่ทำให้น้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกอุ่นขึ้น
รูปธรรมของความเสียหายจากความร้อนที่เพิ่มขึ้น คือคลื่นความร้อนในจีนและยุโรป อุทกภัยที่เกิดจากพายุฝนในลิเบีย ที่คร่าชีวิตคนหลายพัน และไฟป่าในแคนาดาที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์
- ที่มา: รอยเตอร์
กระดานความเห็น