ภายใต้คำสั่งล่าสุดที่ออกมาเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ จะระงับการออกวีซ่าชั่วคราวหลายประเภทไปจนถึงสิ้นปี ซึ่งรวมถึง วีซ่า H-1B วีซ่า H-2B วีซ่า J-1 และวีซ่า L-1 ด้วยจุดประสงค์ที่จะช่วยให้มีตำแหน่งงานว่างสำหรับคนอเมริกันราว 525,000 ตำแหน่ง ในขณะที่อัตราว่างงานในประเทศยังคงสูงต่อเนื่องที่ระดับ 13.3% เมื่อเดือนที่แล้ว อันเนื่องมาจากวิกฤติโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่
แต่องค์กรที่ให้การสนับสนุนสถาบันการศึกษา The Association of Public and Land-grant Universities (APLU) ซึ่งมีเครือข่ายอยู่ทั่วสหรัฐฯ แสดงความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับคำสั่งนี้ โดยเฉพาะกรณีของ วีซ่า H-1B และวีซ่าประเภท J
ปีเตอร์ แมคเฟียร์สัน ประธานสมาคมฯ ให้ความเห็นผ่านเว็บไซท์ของ APLU ว่า สหรัฐฯ ไม่อยู่ในฐานะที่จะยอมปล่อยให้คู่แข่งในเวทีโลกชิงนำหน้าไปก่อนในภาวะที่มีความล่อแหล่มเช่นในปัจจุบัน และการระงับวีซ่าใหม่ๆ เหล่านี้อาจกลายมาเป็นข้อจำกัดของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และอาจทำให้สหรัฐฯ สูญเสียตำแหน่งผู้นำเศรษฐกิจนวัตกรรมที่ล้ำหน้าที่สุดไปได้ด้วย
รายงานข่าวระบุว่า APLU ซึ่งสมาชิกที่เป็นสถาบันการศึกษาจำนวน 246 แห่งทั่วประเทศ มีบางแห่งที่มีนักศึกษาต่างชาติเป็นจำนวนมาก
แมคเฟียร์สัน เรียกร้องให้รัฐบาลปธน.ทรัมป์ เร่งหาทางรักษาชาวต่างชาติที่จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ เอาไว้ในประเทศ เพื่อช่วยระดมสมอง อัจฉริยภาพและความคิดต่างๆ ที่จะมาซึ่งการค้นพบสิ่งใหม่ๆ และสร้างธุรกิจและงานให้กับชาวอเมริกันต่อไป
ขณะเดียวกัน เจสสิกา วอห์น ผู้อำนวยการด้านนโยบายศึกษา แห่ง Center for Immigration Studies ให้ความเห็นว่า จุดยืนของทำเนียบขาวที่ต้องการใช้คำสั่งดังกล่าวเพื่อปกป้องแรงงานในสหรัฐนั้น น่าจะช่วยให้ชาวอเมริกันและผู้ที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาในสหรัฐฯ อย่างถูกกฎหมาย ที่เพิ่งจบการศึกษามา รวมทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ให้มีโอกาสหางานมากขึ้น แทนที่จะปล่อยให้งานกลายมาเป็นของแรงงานต่างชาติ ซึ่งจุดนี้จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อไป
อย่างไรก็ดี เดวิด เบียร์ นักวิเคราะห์นโยบายการอพยพเข้าเมือง จากสถาบัน เคโต (Cato Institute) แย้งว่า คำสั่งล่าสุดของรัฐบาลสหรัฐฯ นั้น ไม่มีมูลความจริงเลย เพราะการระงับวีซ่าทั้งหมดกลับจะสร้างความเสียหายให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มากกว่า เพราะแรงงานต่างชาตินั้นช่วยสร้างงานที่ดีกว่าให้กับแรงงานอเมริกันเสียด้วยซ้ำ ขณะที่ การจำกัดการเข้ามาในประเทศของคนต่างชาติจะไม่ทำให้ระดับการว่างงานของสหรัฐฯ ลดลง แต่จะส่งผลเสียต่อภาคธุรกิจอเมริกันแทน
ตามกฎหมายของสหรัฐฯ บริษัททั้งหลายสามารถว่าจ้างชาวต่างชาติทำงานที่ถือวีซ่าประเภท H-1B ซึ่งมีไว้สำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพที่ต้องใช้ทักษะสูง และสำเร็จการศึกษาขั้นต่ำในระดับปริญญาตรี และผู้ถือวีซ่าประเภทนี้สามารถพำนักอยู่ในสหรัฐฯ ได้อย่างถูกกฎหมายโดยไม่มีงานทำได้สูงสุด 60 วัน
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า อุตสาหกรรมเทคโนโลยีของสหรัฐฯ น่าจะเป็นผู้ที่เสียหายจากการดำเนินนโยบายนี้
ยูกิโกะ ยามาชิตะ นักชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยแห่งมิชิแกน ทวีตข้อความแสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ และระบุว่า สหรัฐฯ “นำเข้า” ผู้ที่มีการศึกษาระดับสูงมาช่วยสนับสนุนงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาตลอด ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทดแทนได้ด้วยการจ้างแรงงานภายในประเทศเพียงแหล่งเดียว เนื่องจากไม่มีผู้ที่มีคุณสมบัติมากพอ
ขณะที่ จิลล์ อัลเลน เมอร์รีย์ รองผู้อำนวยการด้านนโยบายสาธารณะ จาก NAFSA: Association of International Educators ให้ความเห็นว่า คำสั่งนี้เป็นตัวอย่างของสารที่แสดงความไม่ปรารถนาต้อนรับจากรัฐบาลสหรัฐฯ สู่นักเรียน นักศึกษา และผู้ที่มีความต้องการหรือแผนที่จะเดินทางมาสหรัฐฯ และแม้รัฐบาลจะพยายามอธิบายว่า จุดประสงค์ของแผนนี้คือการช่วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สิ่งที่เกิดขึ้นจริงจะกลายเป็นเรื่องตรงกันข้ามมากกว่า เพราะ “ผู้อพยพย้ายถิ่นฐานในประเทศนี้ คือผู้ที่สร้างงาน ไม่ใช่ผู้ที่มาแย่งงาน”
นอกจาก ประเด็นการระงับวีซ่าชั่วคราวต่างๆ แล้ว รัฐบาลสหรัฐฯ ยังอยู่ในระหว่างการทบทวนโครงการ Optional Practical Training (OPT) ที่เปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไปสามารถทำงานในสหรัฐฯ อย่างถูกกฎหมายเป็นเวลา 1 ปี และสามารถขยายได้อีก 2 ปี ในกรณีของงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ โดยการพิจารณาทบทวนนี้เกิดขึ้นหลัง วุฒิสมาชิกจากพรรครีพับลิกันกลุ่มหนึ่งยื่นเรื่องให้ทำเนียบขาวระงับโครงการเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลที่ว่า การระงับโครงการดังกล่าวจะช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวได้เร็ว เพราะชาวอเมริกันจะมีโอกาสหางานทำมากขึ้น
ข้อมูลจาก NAFSA ระบุว่า มีนักศึกษาต่างชาติกว่า 1 ล้านคนทั่วสหรัฐฯ ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2018 และ ค.ศ. 2019 โดยทั้งหมดมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นมูลค่าเกือบ 41,000 ล้านดอลลาร์ และช่วยสร้างงานถึง 458,290 ตำแหน่ง