ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิทย์ฯ อเมริกัน ปั้น “โฮโลแกรม” ช่วยงานบันเทิง การศึกษาและการแพทย์


From HoloCamera to output
From HoloCamera to output

ทีมนักพัฒนาจากมหาวิทยาลัยแมริแลนด์ ใช้กล้องโฮโลแกรมจำนวนนับร้อย ในการบันทึกภาพการเคลื่อนไหวของผู้คน เพื่อนำมาประมวลเป็นภาพสามมิติที่สามารถนำไปใช้เพื่อความบันเทิง การศึกษา รวมถึงการฝึกอบรมที่สอนการเคลื่อนไหวทางกายภาพ

อิรีนา มูเรซาโน นักไวโอลินและรองศาสตราจารย์ด้านไวโอลิน จากมหาวิทยาลัยแมริแลนด์ คือ หนึ่งในผู้ที่เข้าร่วมการพัฒนาเทคนิคดังกล่าว ด้วยการบันทึกการเคลื่อนไหวในสตูดิโอ HoloCamera ที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษ โดยสตูดิโอแห่งนี้มีกล้องสามมิติจำนวนหลายร้อยตัว ที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลเพื่อนำไปสร้างเป็นภาพโฮโลแกรมที่มีชีวิตเสมือนจริง

โฮโลแกรมที่ถูกสร้างขึ้นสามารถถูกเสนอในสภาพแวดล้อมแบบใดก็ได้ โดยผู้ชมที่ใช้หูฟังพร้อมแว่นแบบสวมหัวจะรู้สึกเหมือนราวกับกำลังชมการแสดงสดที่หน้าของตนอยู่

ผู้ชมที่ใช้หูฟังพร้อมแว่นแบบสวมหัว รับชมคลิปวิดีโอโฮโลแกรม
ผู้ชมที่ใช้หูฟังพร้อมแว่นแบบสวมหัว รับชมคลิปวิดีโอโฮโลแกรม

ในกรณีของมูเรซาโนนั้น มีการนำภาพโฮโลแกรมของเธอไปประกอบฉากหลังเวทีคอนเสิร์ตฮอลล์ที่มีชื่อเสียงในโรมาเนีย และทำให้เกิดภาพเสมือนว่า เธอทำการแสดงจากสถานที่แห่งนั้นจริง ๆ

มูเรซาโน เล่าว่า เธอได้บรรเลงไวโอลินเพลงของ จอร์จ เอเนสคู นักแต่งเพลงชื่อดังที่สุดของโรมาเนีย และเธอก็ขอให้ทีมงานลองนำภาพโฮโลแกรมของเธอไปอยู่บนเวที คอนเสิร์ตฮอลล์ Romanian Athenaeum

อิรีนา มูเรซาโน นักไวโอลินและรองศาสตราจารย์ด้านไวโอลิน จากมหาวิทยาลัยแมริแลนด์
อิรีนา มูเรซาโน นักไวโอลินและรองศาสตราจารย์ด้านไวโอลิน จากมหาวิทยาลัยแมริแลนด์

เธอกล่าวเสริมว่า ได้มีการทีมงานไปบันทึกภาพที่ Athenaeum เพื่อให้ได้ภาพการแสดงที่ผู้ชมบันทึกผลงานการแสดงเพลงจากโรมาเนียชิ้นนี้ จะได้เห็นภาพเธอแสดงอยู่บนเวทีอันมีชื่อเสียงของประเทศนี้

อาจารย์ด้านไวโอลินท่านนี้ยังเชื่อว่า ในอนาคต เทคโนโลยี HoloCamera จะช่วยเตรียมการสอนเสมือนจริงที่ดียิ่งขึ้นให้กับนักเรียนในต่างประเทศได้ด้วย

ประโยชน์จากเทคโนโลยีสามมิติช่วยให้ผู้สอนมองเห็นนักเรียนในทุกองศา แม้ว่าจะอยู่ไกลกันคนละซีกโลก และข้อมูลที่ได้จะเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนเพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุง ซึ่งมูเรซาโน อธิบายว่า นักเรียนก็จะได้เห็นการสาธิตเล่นไวโอลินของเธอว่า แขนทั้งสองข้างเคลื่อนไหวอย่างไร จากมุมต่าง ๆ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับกระบวนการเรียนรู้

โครงการพัฒนาโฮโลแกรมนี้ได้รับการพัฒนาโดย อมิตาบ วาร์ชนีย์ และทีมงานของเขา จากวิทยาลัยด้านคอมพิวเตอร์ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแมริแลนด์

อมิตาบ วาร์ชนีย์, มหาวิทยาลัยแมริแลนด์
อมิตาบ วาร์ชนีย์, มหาวิทยาลัยแมริแลนด์

วาร์ชนีย์ ให้สัมภาษณ์ว่า ในการศึกษาหนึ่งที่มหาวิทยาลัยแมริแลนด์ ทีมงานพบว่า ผู้คนสามารถเก็บข้อมูลได้ดีมากขึ้น เมื่อพวกเขาได้สัมผัสสภาพแวดล้อมเสมือนจริงผ่านประสบการณ์ทางร่างกายของตนเอง และประสบการณ์จากเทคโนโลยีเสมือนจริงและเทคโนโลยีเสริมจริงก็คือสิ่งที่จะช่วยสร้างโลกใหม่ที่มีความชัดเจนแม่นยำมากกว่าอุปกรณ์ที่ใช้ในยุคปัจจุบัน อย่าง จอภาพ คีย์บอร์ดและเมาส์

นอกจากนั้น การใช้ภาพโฮโลแกรมขั้นสูงหมายถึง การที่ผู้ใช้งานสามารถเข้าไปมีประสบการณ์ร่วมเสมือนจริง ซึ่งเป็นประโยชน์มากกว่าเพียงความบันเทิงด้านดนตรีหรือการศึกษาเท่านั้น

ปัจจุบันนี้ ทีม HoloCamera กำลังพัฒนาต้นแบบสำหรับการแสดงศิลปะแขนงต่าง ๆ ด้วยความหวังว่าจะสามารถขยายขอบเขตไปยังการฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพจากระยะไกล รวมถึงกระบวนการทางการแพทย์ที่มีความซับซ้อน อย่างเช่น การผ่าตัดร่างกายมนุษย์ เป็นต้น

  • ที่มา: วีโอเอ

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG