ทางการเวียดนามเชื่อว่า เวียดนามจะได้รับประโยชน์ระยะสั้นจากการเข้าร่วมในข้อตกลงการค้า RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม หลังจากที่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ยืนยันการเข้าร่วมเมื่อต้นเดือนนี้
จนถึงขณะนี้มี 15 ประเทศที่ลงนามแล้วในข้อตกลง RCEP ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และ 10 ประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียน
RCEP ถือเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุมประชากรราว 30% ของประชากรโลก และ 30% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลก โดยคาดว่าจะมีการยกเลิกกำแพงภาษีมากกว่า 90% ของสินค้าที่ซื้อขายกันภายในประเทศสมาชิก
สำหรับเวียดนาม การเข้าร่วมใน RCEP หมายความว่าจะสามารถส่งออกสินค้าได้มากขึ้น รวมทั้งนำเข้าสินค้าได้ในราคาถูกลง โดยเฉพาะวัตถุดิบต่าง ๆ ที่ใช้ในการผลิตสินค้า โดยในแต่ละปีเวียดนามนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศในอาเซียนเป็นมูลค่ามากกว่า 30,000 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ RCEP จะช่วยลดยอดขาดดุลการค้าของเวียดนามที่มีต่อจีนและเกาหลีใต้ลงได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความกังวลว่า RCEP จะส่งผลกระทบต่อตลาดภายในประเทศมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะผลกระทบที่มีต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งมีสัดส่วนราว 98% ของผู้ประกอบธุรกิจทั้งหมดในเวียดนาม ซึ่งต้องเผชิญกับการแข่งขันกับสินค้าราคาถูกนำเข้าจากประเทศอื่น โดยเฉพาะจีน
สตีเว่น โอกุน แห่งบริษัทที่ปรึกษา McLarty Associates และอดีตประธานหอการค้าอเมริกันในสิงคโปร์ กล่าวว่า เวียดนามได้เปรียบหลายประเทศที่เข้าร่วมใน RCEP เนื่องจากเวียดนามยังลงนามเป็นสมาชิกข้อตกลงการค้า CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) อีกฉบับหนึ่งด้วย ซึ่งจะช่วยยกระดับมาตรฐานในการผลิตสินค้าและเศรษฐกิจของเวียดนาม รวมถึง การแข่งขันอย่างยุติธรรมระหว่างบริษัทของรัฐบาลกับเอกชน และกฎเกณฑ์เกี่ยวกับธุรกิจดิจิทัลต่าง ๆ เป็นต้น
นักวิชาการผู้นี้ชี้ว่า การที่เวียดนามเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่เข้าร่วมทั้ง RCEP และ CPTPP จะทำให้เวียดนามสามารถใช้ประโยชน์สูงสุดจากโอกาสนี้ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมและธุรกิจดิจิทัลของเวียดนามให้แข่งขันในตลาดโลกได้ต่อไปในอนาคต