ความมั่นคงทางการเมือง ค่ารักษาที่เอื้อมถึง และบริการการแพทย์ที่ดีในบางสาขา ทำให้เวียดนามกำลังเป็นทางเลือกใหม่ของนักท่องเที่ยวที่ต้องการผสมผสานการพักผ่อนวันหยุดเข้ากับการรับการรักษาพยาบาล หรือที่เรียกว่า การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (medical tourism)
จุดขายสำคัญของเวียดนาม คือ การรักษาฟัน และศัลยกรรมความงาม
เว็บไซต์ Vietnam Investment Review สื่อของรัฐบาลเวียดนาม รายงานว่ามีชาวต่างชาติมากกว่า 80,000 คนที่เดินทางมาเพื่อ “ตรวจสุขภาพและเข้ารับการรักษาทางการแพทย์” นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ สร้างรายได้ให้กับเวียดนามแล้วกว่า 1,000 ล้านดอลล่าร์ และยังทำให้อุตสาหกรรมการแพทย์ของประเทศเติบโต 18-20 เปอร์เซนต์ต่อปี
การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ เป็นแหล่งรายได้สำคัญของหลายประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคาดว่าในปีที่ผ่านมา medical tourism ทำเงินให้ประเทศประมาณ 26,000 ล้านบาท หรือ 860 ล้านดอลล่าร์ มากกว่าปีก่อน 14 เปอร์เซนต์ ในขณะที่การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ในสิงคโปร์ เติบโตปีละ 10 เปอร์เซนต์ และทำเงินไป 737 ล้านดอลล่าร์ ในปี พ.ศ. 2560
ประมาณหนึ่งในสามของรายได้ของโรงพยาบาลเอกชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาจาก medical tourism จากรายงานวิจัยตลาดของบริษัท Zion Market Research
จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเวียดนามเพิ่มขึ้นสามเท่าจาก 5 ล้านเป็น 15 ล้านคนในช่วง 8 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2553-2561 ซึ่งทางการเวียดนามมองว่านักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเพื่อรับการรักษาหรือเพื่อสุขภาพ รวมอยู่ในนี้ด้วย นักท่องเที่ยวจากจีนและเกาหลีใต้ ครองอันดับเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่สุดของเวียดนาม
บริษัทโบรกเกอร์ SSI Institutional Brokerage ในกรุงโฮจิมินห์ มองว่าค่ารักษาพยาบาลของเวียดนาม ถูกกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย และสิงคโปร์ ทำให้มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามามากขึ้น และกลุ่มใหญ่ที่สุดเข้ามาเพื่อทำศัลยกรรมความงาม
นักท่องเที่ยวจากออสเตรเลีย “หลั่งไหล” มาเวียดนามเพื่อรักษาฟัน เพราะค่ารักษามีราคาถูก คิดเป็นเพียงสิบเปอร์เซนต์ของค่ารักษาในทวีปอเมริกาเหนือ ในขณะที่คุณภาพการให้บริการก็ค่อย ๆ ดีขึ้น เพราะมีทันตแพทย์ที่เรียนจบจากต่างประเทศกลับมาทำงานในเวียดนาม ตามรายงานการตลาดของบริษัท Infocus Mekong Research
ส่วนศัลยกรรมความงามดึงดูดนักท่องเที่ยวจากเกาหลีใต้เป็นพิเศษ เวียดนามยังมีหมอชาวเกาหลีที่ทำงานเป็นศัลยแพทย์ในประเทศอีกด้วย
นอกจากนี้ รีสอร์ทตามเมืองชายฝั่งทะเล เช่น Phu Quoc และ Da Nang พยายามจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อให้ที่พักเหมาะสมกับนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยชาวต่างชาติบางคนพบกับประสบการณ์การรักษาพยาบาลที่ไม่น่าพึงใจนัก บางคนอ้างว่าเจอชิ้นส่วนแปลกปลอมหลังจากที่เข้ารับการผ่าตัดขา แต่เป็นเรื่องยากที่จะชนะคดีฟ้องร้องเอาผิดสถานพยาบาล
นักท่องเที่ยวบางคนจึงยอมเสียเงินมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มความสบาย เพราะถึงจะชำระมากขึ้น ค่าใช้จ่ายโดยรวมทั้งหมดก็ยังถูกกว่าค่าบริการในประเทศอื่น ๆ อยู่ดี
แต่หากเทียบกันแล้ว สิงคโปร์ ไต้หวัน และประเทศไทย ยังมีชื่อเสียงการให้บริการด้านการแพทย์ที่ดีกว่า ประเทศไทย ยังเป็นประเทศที่ชาวต่างชาติเดินทางมารับการรักษาครบวงจร ตั้งแต่ตรวจสุขภาพชุดใหญ่ ไปจนถึงรักษาโรคหัวใจที่สลับซับซ้อน