ข้อมูลจากบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจ Dezan Shira & Associates ชี้ว่าข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรป หรือ อียู กับเวียดนาม ที่ลงนามไปเมื่อปี พ.ศ. 2558 น่าจะช่วยเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อปีของเวียดนาม
ประเทศสมาชิกของอียูหลายชาติ ตั้งเเต่เยอรมนี เนเธอร์เเลนด์ เเละสหราชอาณาจักร ได้นำเข้าสินค้าส่งออกทุกชนิดจากเวียดนามเเล้วรวมกัน 9 เปอร์เซ็นต์ และสหภาพยุโรปมีสมาชิกถึง 28 ชาติด้วยกัน
ข้อตกลงการค้าเสรีดังกล่าวนี้ลงนามโดยผู้เจรจาจากทั้งสองฝ่ายเมื่อเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2558 ซึ่งจะต้องผ่านการพิจารณาของสภาแห่งยุโรป เช่นเดียวกับฝ่ายนิติบัญญัติของเวียดนาม
อดัม เเม็คคาร์ที (Adam McCarty) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่ง Mekong Economics ในกรุงฮานอย กล่าวว่า ข้อตกลงทางการค้านี้จะมีผลดี เพราะจะช่วยให้สินค้าของเวียดนามเข้าถึงตลาดยุโรปได้มากขึ้น ไม่เฉพาะเเค่สินค้าเสื้อผ้าและรองเท้าเท่านั้น เเต่ยังรวมถึงอาหารทะเลเเละผลิตภัณ์แปรรูปทางการเกษตรอีกด้วย
เวียดนามถือว่าสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดที่มีผู้บริโภคราว 500 ล้านคน เป็นตลาดคู่ค้าใหญ่อันดับที่ 3 ตามหลังจีนเเละสหรัฐฯ การค้าระหว่างสองฝ่ายรวมเเล้วอยู่ที่ 50,400 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ เมื่อปีเเล้ว
เวียดนามพึ่งพาการส่งออกสินค้าเสื้อผ้า ชิ้นส่วนรถยนต์ เเละสินค้าอิเลคทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค เพื่อกระตุ้นให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของชาติ ซึ่งเติบโตเร็วอยู่เเล้วกว่าชาติอื่นๆ เกือบทั่วโลก
ก่อนหน้านี้เวียดนามหวังว่า ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ Trans-Pacific Partnership (TPP) จะช่วยให้เวียดนามส่งออกสินค้าไปสู่ตลาดสหรัฐฯ โดยไม่ต้องเสียภาษีศุลกากร แต่ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ได้ถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงนี้เมื่อปีที่แล้ว
ข้อตกลงการค้าเสรีเวียดนามกับอียูจะล้มเลิกภาษีนำเข้าแก่สินค้า 99 เปอร์เซ็นต์ของสินค้าทั้งหมดภายใน 10 ปี เเละเปิดตลาดเวียดนามเพื่อรับการบริการต่างจากสหภาพยุโรป อาทิ การบริการทางสุขภาพ การทำบรรจุภัณฑ์ เเละการจัดการประชุม
การล้มเลิกภาษีนำเข้าสินค้านี้จะช่วยประหยัดเงินแก่บรรดาผู้ผลิตสินค้าที่ตั้งอยู่ในเวียดนามเเละขายสินค้าในยุโรป
ซอง เซง วุน (Song Seng Wun) นักเศรษฐศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำธนาคารเอกชน CIMB ในสิงคโปร์ กล่าวว่า นี่ถือเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถทดแทนการค้ากับสหรัฐฯ ได้ เพราะสหรัฐฯ ยังเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดเเละสำคัญที่สุด
อียูต้องการทำข้อตกลงการค้าเสรีกับเวียดนาม เพื่อให้บริษัทสัญชาติอียูเข้าถึงตลาดผู้บริโภคเวียดนามที่มีกำลังซื้อมากขึ้นราว 93 ล้านคน และบรรดานักลงทุนต่างชาติเลือกเวียดนามเพราะค่าเเรงถูก สร้างตำเเหน่งงานในประเทศที่จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค
เเม็คสฟิลด์ บราวน์ (Maxfield Brown) ที่ปรึกษาเศรษฐกิจอาวุโสแห่งบริษัทที่ปรึกษา Dezan Shira & Associates ในเมืองโฮจิมินห์ซิตี้ กล่าวว่า การตัดลดภาษีนำเข้าจะช่วยส่งเสริมการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยจากยุโรป และข้อตกลงนี้ยังจะเอื้อให้สหภาพยุโรปเข้าถึงตลาดในประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียนซึ่งมีสมาชิก 10 ชาติรวมทั้งเวียดนามด้วย
อียูล้มเหลวในการบรรลุข้อตกลงการค้ากับสมาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2552 หลังการเจรจานานสองปี เพราะสมาชิกของสมาคมอาเซียนไม่สามารถเห็นพ้องกันได้ในวาระที่แตกต่างกันของเเต่ประเทศสมาชิก
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)