การอภิปรายโต้วาทีชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระหว่างรองประธานาธิบดี ไมค์ เพนซ์ และวุฒิสมาชิก คามาลา แฮร์ริส นานกว่า 90 นาที เป็นโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นหลากหลายหัวข้อ รวมทั้งเป็นพื้นที่ให้ต่างฝ่ายต่างโจมตีนโยบายของคู่ท้าชิงเต็มที่
เวทีโต้อภิปรายที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยแห่งยูทาห์ เมืองซอลท์เลคซิตี้ จัดขึ้นด้วยความระมัดระวังเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ เนื่องจากมีผู้เข้าชมการอภิปรายสดจำนวนหนึ่ง ซึ่งต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการรักษาระยะห่างทางสังคมและสวมหน้ากากตลอดเวลา ขณะที่ผู้ร่วมโต้อภิปรายทั้งสอง จะนั่งรักษาระยะห่างกัน 12 ฟุตและมีแผ่นอะคริลิคใสกั้นไว้ด้วย
หัวข้อที่ ซูซาน เพจ หัวหน้าสำนักข่าวหนังสือพิมพ์ ยูเอสเอ ทูเดย์ ประจำกรุงวอชิงตัน ซึ่งทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการหยิบยกขึ้นมาถามผู้ร่วมเวทีทั้งสองมีทั้งหมด 9 หัวข้อ ซึ่งมีทั้งเรื่องของวิกฤติโควิด-19 อาการป่วยของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ นโยบายความสัมพันธ์ระว่างประเทศ ตุลาการศาลสูงคนใหม่ และความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม โดยเฉพาะประเด็นกระบวนการรักษากฎหมายที่มีการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ
ในระหว่างการโต้อภิปรายประเด็นการระบาดโควิด-19 ส.ว.แฮร์ริส ประกาศว่า ตนจะไม่ยอมรับวัคซีนต้านโควิด-19 ตัวใดก็ตาม ที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ไม่รับรอง แต่ปธน.ทรัมป์ เป็นผู้ประกาศใช้เพียงผู้เดียว ขณะที่ รองปธน.เพนซ์ พยายามเน้นย้ำว่า ผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งกำลังพักรักษาตัวจากการติดเชื้อโคโรนาไวรัรสสายพันธุ์ใหม่อยู่ ได้พยายามทำงานอย่างเต็มที่มาตั้งแต่เริ่มมีการระบาด เพื่อประโยชน์ของชาวอเมริกัน ซึ่งรวมถึงการผลักดันให้มีวัคซีนออกมาใช้งานภายในสิ้นปีนี้ด้วย
สำหรับประเด็นการโต้อภิปรายอื่นๆ ที่ทั้งสองเผชิญหน้ากันชัดเจนบนเวทีคืนวันพุธ มีอาทิ เรื่องของความโปร่งใส โดยเฉพาะกรณีการเสียภาษีของปธน.ทรัมป์ และการที่ผู้นำสหรัฐฯ ยังคงปฏิเสธที่จะเปิดเผยรายละเอียดการรับเงินภาษีคืน แม้ว่าจะสัญญาว่าจะทำมาหลายครั้ง ซึ่งเป็นโอกาสให้ ส.ว.แฮร์ริส โจมตีและเน้นย้ำว่า อดีตรองปธน.ไบเดน นั้นเป็นคนที่ไม่ปิดบังอะไรอยู่แล้ว แต่ “โดนัลด์ ทรัมป์ ในขณะเดียวกัน ปกปิดทุกอย่างเสมอมา”
สำนักข่าว รอยเตอร์ส กล่าวว่า ส.ว.แฮร์ริส เล่นบทบาทผู้จู่โจมพอควร ด้วยการชี้ว่า รัฐบาลปธน.ทรัมป์พยายามที่จะยกเลิกกฎหมาย Affordable Care Act หรือ โอบามาแคร์ ในขณะที่สหรัฐฯ ยังคงต้องต่อสู้กับการระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัส ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอชี้ว่า เป็นความล้มเหลวของผู้นำคนปัจจุบันด้วย
ขณะเดียวกัน รองปธน.เพนซ์ พยายามเน้นย้ำว่านโยบายของ อดีตรองปธน.ไบเดน จะนำไปสู่การขึ้นภาษี และแผน Green New Deal ซึ่งเป็นข้อเสนอด้านสิ่งแวดล้อมมูลค่ามหาศาล จะนำไปเศรษฐกิจของประเทศมีปัญหาคนว่างงานมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทั้งคู่จะมีการตอบโต้และใช้โอกาสโจมตีฝ่ายตรงข้ามบ้าง โดยรวมแล้ว ทั้ง รองปธน.เพนซ์ และ ส.ว.แฮร์ริส แสดงออกถึงการให้ความเคารพกันและกันอย่างชัดเจน และมากกว่าบนเวทีดีเบตระหว่าง ปธน.ทรัมป์ และอดีตรองปธน.ไบเดน เมื่อสัปดาห์ก่อนอย่างมาก
สำนักข่าว Associated Press ชี้ว่า การขึ้นเวทีของผู้ท้าชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทั้งสองเป็นโอกาสให้พลเมืองอเมริกันผู้มีสิทธิ์ใช้เสียง ตัดสินใจว่า รองปธน.เพนซ์ หรือ ส.ว.แฮร์ริส มีความพร้อมที่จะก้าวขึ้นมาทำหน้าที่ประธานาธิบดีในอนาคตด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อผู้นำประเทศคนปัจจุบันมีอายุ 74 ปี และยังรักษาตัวจากโควิด-19 อยู่ และอดีตรองปธน.ไบเดนมีอายุถึง 77 ปีแล้ว และจะกลายมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มีอายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ หากชนะการเลือกตั้งครั้งนี้