รอยเตอร์รายงานว่า สภาคองเกรสเตรียมศึกษาและพัฒนาสารเคมีในเชื้อเพลิงของขีปนาวุธเพื่อเพิ่มระยะทำการในพื้นที่อินโด-แปซิฟิกให้ห่างจากจีนมากขึ้น
แหล่งข่าวระดับผู้ช่วยในสภาคองเกรส 2 รายและแหล่งข่าวที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 2 ราย กล่าวกับรอยเตอร์โดยไม่ออกนามว่า กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือเพนตากอน และสภาคองเกรส มีแผนที่จะดัดแปลงเชื้อเพลิงและน้ำหนักของขีปนาวุธเพื่อเพิ่มระยะการยิงอีกราวร้อยละ 20
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว วุฒิสภาสหรัฐฯ เผยแพร่เนื้อหาของร่างกฎหมายที่จะใช้งบประมาณ 13 ล้านดอลลาร์ (ราว 448.2 ล้านบาท) ในการวางแผนและผลิตสารเคมีดังกล่าว โดยรอยเตอร์รายงานว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการอนุมัติงบประมาณเกี่ยวกับยุทธภัณฑ์ที่มีมูลค่าถึง 8.8 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 30 ล้านล้านบาท)
แม้จะยังมีการหารือทางรายละเอียดงบประมาณอยู่ รอยเตอร์รายงานว่า การป้องปรามจีนเป็นสิ่งที่ทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันเห็นชอบร่วมกันในทางหลักการแล้ว
ไมค์ แกลลาเกอร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กล่าวกับรอยเตอร์ว่า สหรัฐฯ จำเป็นที่จะต้องมีขีปนาวุธทำลายเรือที่อยู่ในระยะห่างไกลในจำนวนที่มากขึ้น เนื่องจากความกว้างใหญ่ของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกและขนาดของกองทัพเรือของจีน
หากคองเกรสอนุมัติร่างกฎหมายจากวุฒิสภาข้างต้น เพนตากอนจะเริ่มดำเนินโครงการในการดัดแปลงเชื้อเพลิงจรวดเพื่อเพิ่มระยะยิง นอกจากนั้น จะยังนำไปสู่การตั้งสำนักงานด้านวัสดุพลังงานที่สังกัดกับกระทรวงกลาโหม
รอยเตอร์ระบุว่า ตัวอย่างของเชื้อเพลิงที่ถูกพูดถึงบ่อย ๆ ในโครงการ คือ สารเคมีที่เรียกว่า ไชน่า เลค คอมพาวด์ หมายเลข 20 (China Lake Compound #20) หรือที่เรียกว่า CL-20
CL-20 เป็นสารที่ถูกพัฒนาขึ้นมาในห้องทดลองของรัฐบาลในแคลิฟอร์เนียเมื่อทศวรรษ 1980 โดยมีผลการศึกษาในปี 2021 ที่ระบุว่า การดัดแปลงขีปนาวุธด้วย CL-20 พร้อมไปกับการเปลี่ยนแปลงส่วนต่าง ๆ อื่น ๆ ไม่เพียงแต่จะเพิ่มระยะยิงให้ไกลขึ้นได้ร้อยละ 20 แล้ว ยังจะเพิ่มศักยภาพการทำลายล้างขึ้นอีกด้วย
ด้าน เลน โอเวอร์ตัน ผู้อำนวยการบริหารองค์กรไม่แสวงผลกำไร แอคชัน ออน อาร์ม ไวโอเลนซ์ (Action on Armed Violence) ไม่มองว่า การแข่งขันกันดัดแปลงอาวุธเป็นความก้าวหน้าแต่อย่างใด
“อาวุธที่ใหญ่ขึ้น อันตรายขึ้น ทำให้พวกเราปลอดภัยขึ้นหรือไม่ คำตอบดังๆ ก็คือ ไม่ ... ในช่วงทศวรรษที่แล้ว เวลาที่อาวุธแบบระเบิดถูกใช้ในพื้นที่ชุมชน ร้อยละ 90 ของรายงานการเสียชีวิตหรือบาดเจ็บทั่วโลกคือพลเรือน” โอเวอร์ตันกล่าว
ที่มา: รอยเตอร์