ในช่วงเวลาที่สถานการณ์ตึงเครียดที่สุด มีทหารอเมริกันถูกส่งไปปฏิบัติการในสงครามอัฟกานิสถานถึงเกือบ 100,000 คน หนึ่งในนั้น คือทหารอเมริกันเชื้อสายไทย ที่มาย้อนรำลึกการปฏิบัติภารกิจในสงคราม 20 ปีของสหรัฐฯ
ในวันที่สหรัฐฯ ถอนกำลังพลคนสุดท้ายออกจากประเทศอัฟกานิสถานในคืนวันที่ 31 สิงหาคม ปิดฉากสงครามที่ยาวนานที่สุดของประเทศ Staff Sergeant หรือ จ่าณัฐพล เฉลยเพียร ทหารอเมริกันเชื้อสายไทย ที่ถูกส่งไปร่วมรบในสงครามดังกล่าว มองว่าที่ผ่านมาสหรัฐฯ ได้ปฏิบัติภารกิจอย่างเต็มที่ และได้ช่วยเหลือชาวอัฟกันอย่างสุดความสามารถแล้ว
“ทหารอเมริกาอยู่อัฟกานิสถานมา 20 ปี หมดเงินไป 2 ล้านล้านเหรียญ ช่วยฝึก ช่วยเทรนทหารอัฟกานิสถานตลอดเวลา” จ่าณัฐพลให้สัมภาษณ์กับวีโอเอไทย
“เราลงงบประมาณเราไปเยอะ เราสูญเสียคนของเราไปเยอะ เพื่ออะไร? เพื่อช่วยหลายๆคนให้มีชีวิตที่ดีขึ้น แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่อเมริกาแล้ว ปัญหาอยู่ที่รัฐบาลของเขาเอง ที่จะช่วยเหลือตัวเองไหม? ผมมองว่า ถึงเรากลับไปช่วยเหลือเขา ถ้าเขาไม่คิดจะช่วยเหลือตัวเอง เราก็ทำอะไรมากไม่ได้ มันก็จะเป็นเหมือนเดิม เรากลับไปช่วยเหลือเขา เราเป็นคนทำให้เขาทุกอย่าง”
ช่วงสุดท้ายของภารกิจทางทหารของสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นสงครามที่ชาวอเมริกันหลายคนอยากจะลืม กลับเต็มไปด้วยความโกลาหลวุ่นวาย ที่นักวิเคราะห์มองว่าจะเป็นภาพที่ตราตรึงอยู่ในความทรงจำของสังคมไปอีกนาน โดยเฉพาะเหตุระเบิดฆ่าตัวตายนอกสนามบินคาบูล ที่คร่าชีวิตทหารอเมริกันและชาวอัฟกันไปเป็นจำนวนมาก และภาพของชาวอัฟกันที่ดิ้นรนหาหนทางหนีออกจากประเทศ ที่ถูกกลุ่มนักรบตาลิบันเข้ายึดและรวบอำนาจการปกครองอย่างรวดเร็ว
“รู้สึกหดหู่ครับ เศร้าใจเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก ทุกคนก็อยากมีชีวิตรอด เราไม่รู้เลยว่าใครคนไหนจะโดนอะไรยังไง เราก็ไม่รู้ว่าตาลิบันจะโหดร้ายมากแค่ไหน...ถ้าเราอยู่ต่อ เราก็ช่วยคนได้มาก ถ้าออกมา เราก็เซฟคนของเรามากกว่า”
ปัจจุบัน จ่าณัฐพล หรือ จ่านัท ทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่รับสมัครทหารเข้ารับราชการ หรือ recruiter ให้กับกองทัพสหรัฐฯ ประจำอยู่ที่เมืองพาซาดีนา (Pasadena) รัฐแคลิฟอร์เนีย เขาถูกส่งไปประจำการที่อัฟกานิสถาน ในระหว่างปี พ.ศ. 2549-2550 เป็นเวลาทั้งหมด 15 เดือน
“งานแรกที่ผมได้เข้าทำในทหารก็คือ Combat Engineer คือกู้ระเบิด หรือไปเคลียร์บ้าน ไปบุกบ้านดูว่ามีผู้ก่อการร้ายไหม มีพวกตาลิบันไหม แล้วก็เข้าไปคุยกระชับสัมพันธ์ในหมู่บ้านนั้น การที่เราไปกระชับสัมพันธ์คือเพื่อเข้าไปเอาข้อมูลมาจากเขา...ถ้าหัวหน้าหมู่บ้านนั้นมีความชอบเรา เค้าจะคอยให้ข่าวเรา ว่าจะมีตาลิบันอยู่ตรงโน้น ตรงนี้นะ มีคนแปลกหน้าเข้ามาในหมู่บ้านนะ ซึ่งตรงนี้จะช่วยเราได้เยอะเลย”
ชีวิตในอัฟกานิสถาน เป็นชีวิตท่ามกลางเสียงปืน เสียงระเบิด ที่ทหารอเมริกันต้องใช้ความระแวดระวังอย่างยิ่ง จ่าณัฐพลได้มีโอกาสออกลาดตระเวน ออกรบ ทำให้มีการเผชิญหน้าหลายครั้ง
“การเผชิญหน้าครั้งแรกของผมก็คือกลัวครับ รู้สึกกลัว เพราะไม่เคยยิงปืน ไม่เคยยิงคนมาตลอดชีวิต ซึ่งตรงนี้ทำให้ การรบครั้งแรกทำให้หลุดพ้นตรงนั้นมาได้" เขากล่าว
“มันจะมีการสู้รบกันเยอะ มีการยิงกันเยอะ มีการลักพาตัวกันเยอะ มีการใช้อาวุธหลายๆอย่าง ซึ่งบางทีเขาก็ใช้เด็ก บางทีเขาก็ใช้คนแก่ เราก็ไม่รู้เลยว่าเขาจะมารูปแบบไหน เราต้องคอยตั้งรับตลอดเวลา”
หลังสิ้นสุดภารกิจในอัฟกานิสถาน ทหารอเมริกันเชื้อสายไทยผู้นี้ได้เข้ารับการประเมินและรักษากับผู้เชี่ยวชาญของกองทัพ เพื่อช่วยเยียวยาปรับสภาพจิตใจ จนสามารถกลับมาใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไปได้อีกครั้ง
“ก็คือได้กลับมาใช้ชีวิตปกติ แต่ช่วงแรกๆ มันก็เครียดนิดนึง เพราะว่าเราไปอยู่ตรงนั้น 15 เดือน เรารู้สึกว่า ชีวิตเราเปลี่ยนอีกแล้ว จากปกติที่ผมเป็นที่นอนกอดปืนทุกวัน ตอนเราอยู่อัฟกานิสถาน เราต้องนอนกอดปืนทุกวัน สิ่งแรกที่ตื่นขึ้นมา ที่ผมจะค้นหาก็คือปืนอยู่ไหน ขณะนอนอยู่ในห้อง ตื่นมาเราต้องวิ่งหาปืนก่อน...ใช้เวลา 1 เดือนในการแก้ไข ต้องไปหาหมอนิดหนึ่ง คือเค้าก็ช่วยในด้านนี้"
“ผมสูญเสียเพื่อนไปสองคน สนิทกัน ค่อนข้างทำร้ายจิตใจหลาย ๆ คน บางคนกลับมาครอบครัวแตกแยกก็มี มีการคิดฆ่าตัวตายก็มี บางคนฆ่าตัวตายสำเร็จก็มี”
จ่าณัฐพล เฉลยเพียร กล่าวว่าหลังจากกลับจากอัฟกานิสถาน เขาดีใจที่ไม่ต้องทำให้ครอบครัวต้องวิตกกังวลเรื่องความปลอดภัยของตัวเอง แต่นอกจากการที่มีโอกาสช่วยเหลือชาวอัฟกันแล้ว เขามองว่า สงคราม 20 ปีที่เพิ่งปิดฉากลง ไม่ได้ให้อะไรกับตัวเขาเลย
ผลการสำรวจล่าสุดของศูนย์วิจัย Pew Research Center พบว่าชาวอเมริกันร้อยละ 52 สนับสนุนการถอนทหารสหรัฐฯ ออกจากอัฟกานิสถาน แต่เกือบร้อยละ 70 เห็นว่าสหรัฐฯ ล้มเหลวในภารกิจที่อัฟกานิสถาน สงครามที่ยาวนานที่สุดของประเทศ