ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สกีรีสอร์ทในสหรัฐฯ ตั้งเป้าผลิตหิมะแบบประหยัดน้ำ-สู้วิกฤตภัยแล้ง


Glenn Cain (L) of Alma, Colorado and Mary Taylor of Silverthorne, Colorado walk on exposed pavement after backcountry skiing in Summit County, Colorado on Dec. 3, 2021.
Glenn Cain (L) of Alma, Colorado and Mary Taylor of Silverthorne, Colorado walk on exposed pavement after backcountry skiing in Summit County, Colorado on Dec. 3, 2021.

ปริมาณหิมะในฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ ลดลงประมาณ 20% ในศตวรรษที่ผ่านมา ทำให้หิมะที่มนุษย์สร้างขึ้นกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากขึ้นในแต่ละปี สำหรับการเปิดสกีรีสอร์ทและเติมเชื้อเพลิงให้กับเศรษฐกิจเมืองสกีในขณะที่กำลังก้าวเข้าสู่อนาคตที่ไม่มีความแน่นอน

ผลกระทบจากภัยแล้งและการเปลี่ยนแปลงสภาพของภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมสกีต้องลงทุนหลายล้านดอลลาร์ไปกับระบบการผลิตหิมะที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ท่ามกลางคำถามที่ว่า วิธีการดังกล่าวเป็นการใช้พลังงานและน้ำอย่างชาญฉลาดหรือไม่

ออเดน เชนเลอร์ (Auden Schendler) รองประธานอาวุโสฝ่ายความยั่งยืน ของ Aspen Skiing Company ในรัฐโคโลราโดกล่าวว่า ถ้าเลือกได้ ก็ไม่ต้องการไม่ต้องการที่จะผลิตหิมะ เนื่องจากผลกระทบต่างๆ มากมาย แต่เศรษฐกิจในภูมิภาคและเศรษฐกิจของเมืองสกีทั้งหมดนั้นขึ้นอยู่กับการดำเนินธุรกิจของสกีรีสอร์ท ดังนั้น การสร้างหิมะจึงเป็นสิ่งเลวร้ายที่จำเป็นต้องทำ

Climate Change Snowmaking
Climate Change Snowmaking

ทั้งนี้ การสร้างหิมะมีมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1950 หรือก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำ แต่วิธีการนี้ได้รับความนิยมและแพร่หลายมากขึ้นในฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ หลังจากเกิดภัยแล้งอย่างรุนแรงในช่วงปลายทศวรรษ 1970 โดยข้อมูลของสมาคมสกีรีสอร์ทแห่งชาติในโคโลราโดระบุว่า ราว 87% ของรีสอร์ทบนเทือกเขาสูง 337 แห่งของสหรัฐฯ ล้วนแต่ผลิตหิมะเอง

รีสอร์ทหลายๆ แห่งสูบน้ำจากลำธารหรืออ่างเก็บน้ำในบริเวณใกล้เคียง และโดยทั่วไปแล้วจะใช้ลมอัดและไฟฟ้าเพื่อเป่าหิมะให้เป็นกองบนทางลาดเมื่ออากาศเย็น กองหิมะเหล่านั้นจะกระจายไปยังชั้นฐานที่ช่วยให้รีสอร์ทสามารถเปิดให้บริการได้ในช่วงต้นฤดูหนาวจนถึงตลอดฤดูใบไม้ผลิ

เควิน ไรน์ (Kevin Rein) วิศวกรของรัฐและผู้อำนวยการกองทรัพยากรน้ำโคโลราโดกล่าวว่า การวิเคราะห์สกีรีสอร์ทส่วนใหญ่ในโคโลราโดพบว่า การผลิตหิมะนี้ ต้องใช้น้ำปีละประมาณ 1,500 ล้านแกลลอน (6,800 ล้านลิตร) ซึ่งเป็นปริมาณที่เพียงพอที่จะเติมสระว่ายน้ำขนาดโอลิมปิกได้ประมาณ 2,200 สระเลยทีเดียว

ปริมาณน้ำดังกล่าวฟังแล้วอาจจะดูเหมือนมาก แต่ ไรน์ กล่าวว่าการผลิตหิมะมีสัดส่วนน้อยกว่าหนึ่งในสิบของ 1% ของการใช้น้ำในรัฐ โดยการเกษตรมีสัดส่วนประมาณ 85% ยิ่งไปกว่านั้น น้ำประมาณ 80% ที่ใช้ในการผลิตหิมะจะกลับคืนสู่แหล่งต้นน้ำเมื่อหิมะละลายในฤดูใบไม้ผลิ

ไรน์กล่าวอีกว่า การผลิตหิมะได้รับการยอมรับจากศาลว่า เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์สำหรับรัฐโคโลราโด เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยว และเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตในโคโลราโดอีกด้วย

แต่แพทริค เบลมอนท์ (Patrick Belmont) ศาสตราจารย์และหัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ลุ่มน้ำแห่งมหาวิทยาลัย Utah State กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักคือ มีการใช้พลังงานจำนวนมากในระหว่างการทำหิมะ และน้ำจำนวนมากจะสูญเสียไปจากการระเหยและการระเหิด ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในที่ทีมีน้ำไม่เพียงพอ ทำให้น้ำทุกหยดจึงมีความสำคัญยิ่ง

เบลมอนท์ ซึ่งเป็นนักเล่นสกีตัวยงที่เพิ่งเผยแพร่ผลการศึกษาเกี่ยวกับการผลิตหิมะและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในวงกว้าง กังวลว่า หิมะที่มนุษย์สร้างขึ้นซึ่งมีความหนาแน่นมากกว่าและละลายช้ากว่าของจริงอาจส่งผลต่อกระแสน้ำไหลได้

ทั้งนี้ มีปลาจำนวนมากที่วางไข่หรือทำกิจกรรมอื่นๆ โดยขึ้นอยู่กับกระแสน้ำที่ไหลขึ้นหรือลง ดังนั้น มนุษย์จึงเป็นผู้เปลี่ยนแปลงสัญญาณธรรมชาติดังกล่าวสำหรับสิ่งมีชีวิตเหล่านั้น

อย่างไรก็ตาม เชนเลอร์ จาก Aspen Skiing Company กล่าวว่า บรรดาสกีรีสอร์ทมีความก้าวหน้าอย่างมากในการผลิตหิมะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

รีสอร์ทหลายๆ แห่งยังได้ลงทุนอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเพื่อยกระดับการผลิตหิมะ โดยบางแห่งมีการขุดบ่อกักเก็บน้ำในฤดูใบไม้ผลิเมื่อมีน้ำในปริมาณมาก ในขณะที่บางแห่งก็มองหาการใช้น้ำเสียที่นำกลับมาใช้ใหม่

บริษัท เวล รีสอร์ท (Vail Resorts) ในรัฐโคโลราโด ซึ่งเป็นเจ้าของสกีรีสอร์ท 37 แห่งในสหรัฐฯ แคนาดา และออสเตรเลีย เพิ่งประกาศแผนการลงทุนมูลค่า 3.6 ล้านดอลลาร์สำหรับโครงการสนับสนุนความยั่งยืนในปีนี้ ซึ่งรวมถึงการผลิตหิมะแบบประหยัดพลังงาน เช่น การอัพเกรดปืนฉีดหิมะมากกว่า 400 กระบอกทั่วทั้งรีสอร์ทเพื่อปล่อยหิมะให้ได้มากขึ้นโดยใช้พลังงานน้อยลงในเวลาที่น้อยลง

นอกจากการใช้น้ำอย่างประหยัดแล้ว ในพื้นที่เล่นสกียังมีการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้นในการใช้ปืนฉีดหิมะ ซึ่งคิดเป็นอัตราส่วนประมาณ 20% ของการใช้พลังงานทั้งหมดในรีสอร์ท

โครงการ "Climate Challenge" ที่มีอายุนับสิบปีของสมาคมสกีแห่งชาติ สนับสนุนให้รีสอร์ทต่างๆ จัดทำรายการบัญชีและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนสนับสนุนการออกกฎหมายเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอีกด้วย

  • ที่มา: เอพี

XS
SM
MD
LG