ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สหรัฐฯ-รัสเซีย กลับคืนสู่โต๊ะเจรจาประเด็นอาวุธนิวเคลียร์อีกครั้ง


FILE - President Barack Obama, left, and Russian president Dmitry Medvedev sign the New START treaty at the Prague Castle in Prague in this, April 8, 2010 file photo.
FILE - President Barack Obama, left, and Russian president Dmitry Medvedev sign the New START treaty at the Prague Castle in Prague in this, April 8, 2010 file photo.

คณะผู้แทนรัฐบาลสหรัฐฯ และรัสเซียเริ่มต้นการเจรจาประเด็นนโยบายการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์อีกครั้งที่ออสเตรียภายใต้สนธิสัญญาการลดอาวุธทางยุทธศาสตร์ Strategic Arms Reduction Treaty - START) ในวันจันทร์ หลังจากการหารือหยุดชะงักไปเป็นเวลากว่า 1 ปี​

การประชุมรอบล่าสุดนี้จัดขึ้นที่พระราชวัง นีเดอรอชเตอไรค์ (Niederoesterreich Palace) ในกรุงเวียนนา โดยเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เวลา 8.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น

แถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่ออกมาตั้งแต่เมื่อสัปดาห์ก่อนระบุว่า ผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีด้านการควบคุมอาวุธ มาร์แชล บิลลิงส์เลีย ซึ่งเป็นผู้นำคณะผู้แทนสหรัฐ จะพบกับรัฐมนตรีช่วยว่าการต่างประเทศรัสเซีย เซอร์เกย์ เรียบคอฟ ซึ่งเป็นผู้นำคณะผู้แทนรัสเซีย โดยประเด็นในการเจรจานั้นมีการตกลงเห็นชอบจากทั้งสองฝ่ายแล้ว และเกี่ยวเนื่องกับอนาคตของนโยบายควบคุมอาวุธ

ก่อนหน้าการเจรจารอบนี้ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าว่า รัฐบาลจีนควรจะเข้าร่วมการประชุมสนธิสัญญา START นี้ ซึ่งเป็นการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย ที่ดำเนินมานานหลายสิบปีแล้ว โดยให้เหตุผลว่า จีนนั้นตัดสินใจดำเนินการต่างๆ เกี่ยวกับการพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ของตนโดยอำเภอใจมาโดยตลอด

แถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุด้วยว่า สหรัฐฯ ขอเชิญสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าร่วมประชุมเมื่อใดที่ต้องการ พร้อมชี้แจงว่า จะเป็นการดีต่อทุกฝ่ายที่ทั้งสามประเทศร่วมกันถกประเด็นการควบคุมอาวุธอย่างบริสุทธิ์ใจด้วย

ผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดี บิลลิงส์เลีย ยังได้ทวีตข้อความออกมาก่อนหน้านี้ด้วยว่า จีน ควรกลับไปพิจารณาทบทวนท่าทีของตนอีกครั้ง เพราะสถานะมหาอำนาจนั้นหมายถึงการแสดงการมีความรับผิดชอบเช่นมหาอำนาจด้วย และเรียกร้องให้จีน เลิกนโยบาย “กำแพงเมืองจีนแห่งความลับ” ที่ใช้ปิดบังการสั่งสมกำลังอาวุธนิวเคลียร์ด้วย

ทั้งนี้ สนธิสัญญา START ฉบับล่าสุดระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย เมื่อปี ค.ศ. 2010 บรรลุข้อตกลงที่ต่างจะจำกัดหัวอาวุธนิวเคลียร์ของแต่ละประเทศไว้ที่ 1,550 หัว โดยข้อตกลงนี้จะหมดอายุลงในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 2021

XS
SM
MD
LG