เกร็ดความรู้เรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เรื่อง ความสำคัญของคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้ง หรือ Electoral Voter
การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ใช้กระบวนการที่เรียกว่า Electoral College หรือ คณะผู้เลือกตั้ง ซึ่งผู้ที่จะได้เป็นประธานาธิบดีต้องได้คะแนนจากคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral Voter) ของรัฐต่างๆ รวมกันอย่างน้อย 270 เสียง จากจำนวนทั้งสิ้น 538 เสียง
แต่ละมลรัฐจะมีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งไม่เท่ากัน เพราะขึ้นกับจำนวนประชากรของรัฐนั้น
วิธีคิดง่ายๆ คือคณะผู้เลือกตั้งจะเท่ากับจำนวนสมาชิกวุฒิสภา (ซึ่งมีได้รัฐละสองคนเท่ากัน) บวกกับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นตัวแทนของรัฐนั้นๆ ในสภา Congress ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ที่กรุงวอชิงตัน
ตัวอย่างเช่น รัฐ California มีคณะผู้เลือกตั้งรวม 55 คน ในขณะที่รัฐ Montana, North Dakota, South Dakota และ Wyoming มีคณะผู้เลือกตั้งเพียงแค่รัฐละ 3 คน เป็นต้น (หมายเหตุ: กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. แม้จะไม่มีสถานะเป็นรัฐ แต่กฎหมายก็กำหนดให้มีคณะผู้เลือกตั้งได้ 3 คนเช่นกัน)
รัฐส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ ใช้กฎที่เรียกว่า Winner Takes All ซึ่งหมายถึงผู้สมัครเป็นประธานาธิบดีคนใดที่ได้คะแนนเสียง (popular vote) จากประชาชนของรัฐนั้นมากกว่าในการเลือกตั้ง (ไม่ว่าจะมากกว่าเพียง 50 หรือ 50,000 คะแนนก็ตาม) จะได้คะแนนจากคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral Vote) ของรัฐนั้นไปครองทั้งหมด
โดยมีเพียงสองรัฐเท่านั้นคือ Maine กับ Nebraska ที่ไม่ใช้หลักการนี้ แต่จะจัดสรรคะแนนของคณะผู้เลือกตั้งให้ตามคะแนนเสียงที่ผู้สมัครเป็นประธานาธิบดีได้รับจากพลเมืองของรัฐของตน (popular vote)
สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2016 นี้ การสำรวจความนิยมแสดงว่า เหลือเพียงประมาณ 11 รัฐหรือที่เรียกว่า Swing States เท่านั้น ที่ผู้สมัครทั้งสองฝ่ายกำลังมุ่งให้ความสนใจในขณะนี้
โดยคะแนนจากคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral Vote) ในรัฐเหล่านี้มีอยู่รวมกันประมาณ 146 เสียง ซึ่งรัฐ Swing States ที่สำคัญๆ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้แก่ Florida (29 เสียง) North Carolina (15 เสียง) Ohio (18 เสียง) และ Pensylvania (20 เสียง) เป็นต้น