ระดับการซื้อสินค้าหรูหราไฮเอนด์ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับ เครื่องหนัง และเครื่องแต่งกาย ปรับพุ่งสูงเทียบเท่าระดับก่อนการระบาดของโควิด-19 แล้ว โดยได้แรงขับเคลื่อนจากนักช้อปอเมริกันที่ทุ่มเงินจับจ่ายมากกว่านักช้อปจีนในปีนี้ ตามการศึกษาของ Bain consultancy เมื่อวันพฤหัสบดี (12 พฤศจิกายน) ตามรายงานของเอพี
ข้อมูลการศึกษาจากบริษัทที่ปรึกษา Bain consultancy ที่เปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดี (12 พฤศจิกายน) ระบุว่า การจับจ่ายซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยในประเภทสินค้าอุปโภคทั่วโลก ซึ่งรวมถึงรองเท้าผ้าใบรุ่นใหม่ คาดว่าจะพุ่งสูงขึ้น 29% ในปีนี้ คิดเป็นมูลค่า 325,000 ล้านดอลลาร์ และถือเป็นการกลับมาเทียบเท่าระดับการช้อปของฟุ่มเฟือยเมื่อปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิดระบาด และว่าการฟื้นตัวของการจับจ่ายของหรูหรานี้จะได้แรงหนุนจากเทศกาลช้อปปิ้งปลายปีด้วยเช่นกัน
Claudia D’Arpizio หัวหน้าการศึกษาชิ้นนี้ระบุว่า เราเชื่อมั่นว่าอัตราการเติบโตของการจับจ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยจะฟื้นตัวขึ้น แม้ว่าจีนยังคงมีระดับการซื้อสินค้าเหล่านี้ไม่สูงนักในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แต่เป็นการเติบโตที่แข็งแกร่ง และพบการฟื้นตัวที่พุ่งขึ้นแบบตัววีในสินค้าอุปโภคแบบฟุ่มเฟือย
ขณะที่การศึกษาของ Bain consultancy พบว่า การจับจ่ายในสินค้าฟุ่มเฟือยโดยรวมทั่วโลก ครอบคลุมไปถึงการเดินทางระดับไฮเอนด์ การรับประทานอาหารร้านหรู การซื้อผลงานศิลปะ และการตกแต่งบ้านให้ดูหรูหราราคาแพง ยังคงไปไม่ถึงระดับในช่วงก่อนโควิดในปี 2019 โดยคาดว่าจะคิดเป็นมูลค่า 1.26 ล้านล้านดอลลาร์ในปีนี้ ซึ่งน้อยกว่าช่วงปี 2019 ราว 10% โดยภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบหนัก ยังคงเป็นเรือสำราญ ที่ยอดจองยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดระบาดราว 80%
เมื่อเจาะลึกถึงกลุ่มผู้บริโภค พบว่า นักช้อปอเมริกันเอาชนะนักช้อปจีนได้ ในการทุ่มซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยในปีนี้ และคิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 3 ของยอดจับจ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยในตลาดทั่วโลก ขณะที่ 23% ของยอดจับจ่ายสินค้าหรูหราทั่วโลกมาจากนักช้อปจีน ซึ่งเทียบเท่ากับระดับการช้อปจากฝั่งยุโรป โดยเทรนด์นี้คาดว่าจะดำเนินไปจนถึงปี 2025 เมื่อนักช้อปจีนจะกลับมาทวงบัลลังก์การจับจ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยมากที่สุดในโลก ที่เกือบ 50% และดันให้สหรัฐฯ กลับไปอยู่ในอันดับ 2 ที่ 20% และชาวยุโรปราว 18% ตามลำดับ
ส่วนเรื่องการท่องเที่ยวโดยรวม ทาง Bain consultancy คาดว่าจะกลับฟื้นคืนมาได้ช่วงปลายปี 2023 พร้อมกับความปกติใหม่ที่เหล่านักช้อปของหรูหราจะทุ่มเงินไปกับการซื้อของฟุ่มเฟือยในประเทศมากกว่าต่างประเทศ
(ที่มา: เอพี)